คำวินิจฉัยที่ 62/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แต่ถูกจำเลยไปรับสิทธิใส่ชื่อแทน โดยจำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ โจทก์ขอให้จดทะเบียนโอนเปลี่ยนมาเป็นชื่อโจทก์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนชื่อของจำเลยใน ส.ป.ก. ๔-๐๑ และจดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดิน จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยถูกต้องตามกฎหมายและขอให้ขับไล่โจทก์ เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ในนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๒/๒๕๕๖

วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสุรินทร์
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุรินทร์โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นายสมนึก สายแก้ว โจทก์ ยื่นฟ้องนายสมจิตร ดีงาม จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๓๐/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อปี ๒๕๔๘ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ได้ออกไปสอบสิทธิเพื่อออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับตามสิทธิที่โจทก์ได้ครอบครองทำกินในที่ดินที่ได้รับจัดสรร ต่อมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์แจ้งให้โจทก์ไปรับ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงที่ ๗๙ แต่โจทก์เดินทางไปต่างจังหวัด ภริยาโจทก์จึงให้จำเลยซึ่งเป็นน้องชายไปรับสิทธิใส่ชื่อแทนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยทำนามาตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ถึงปี ๒๕๔๙ จำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ ในปี ๒๕๕๐ โจทก์และภริยาได้ถมที่เพื่อทำตลาดให้ชาวบ้านเช่าค้าขาย ปลูกสร้างห้องน้ำไว้บริการประชาชนเพื่อเก็บค่าบริการและปลูกบ้านพักอาศัย ต่อมาปี ๒๕๕๔ จำเลยแจ้งต่อโจทก์ว่าจะเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวและขอเก็บค่าเช่าแทนโจทก์ โจทก์มีหนังสือไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์เพื่อขอให้จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจากจำเลยเป็นชื่อโจทก์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อของจำเลยออกจาก ส.ป.ก. ๔-๐๑ เลขที่ ๔๖๔๕ แปลงที่ ๗๙ และจดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดิน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและตามระเบียบ กฎ ข้อบังคับและเงื่อนไขที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดโดยถูกต้อง ขอให้ยกฟ้องและขอให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔- ๐๑ เลขที่ ๔๖๔๕ แปลงที่ ๗๙ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เมื่อข้อพิพาทคดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเอกชนด้วยกัน ทั้งมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนชื่อออกจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิแทนและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป อันเป็นนิติสัมพันธ์ที่คู่ความจะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่งเท่านั้น มิได้เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่อำนาจในการให้ความเห็นชอบเกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกและได้รับที่ดินทำกินเป็นของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ประกอบข้อ ๑๑ แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ และอำนาจในการเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นของปฏิรูปที่ดินจังหวัดตามข้อ ๑๐ (๒) แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการออก แก้ไขเพิ่มเติม เพิกถอน และออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๐ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยใน ส.ป.ก. ๔-๐๑ โดยให้เปลี่ยนเป็นชื่อโจทก์นั้น เห็นว่า ปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามข้อ ๑๐ แห่งระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ และปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ แจ้งโจทก์และจำเลยไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเปลี่ยนชื่อใน ส.ป.ก. ๔-๐๑ โจทก์ไปพบเจ้าหน้าที่แต่ขอทำคำชี้แจงเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ภายใน ๑๕ วัน ส่วนจำเลยไม่ไปพบเจ้าหน้าที่แต่มีหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ แต่จนถึงวันฟ้องคดีนี้ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุรินทร์ยังไม่แจ้งผลการพิจารณาให้คู่กรณีทราบ แม้คดีนี้จะเป็นกรณีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชน แต่การที่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่มีชื่อของจำเลย และโดยที่มติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดที่อนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ตามมติของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดี จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีได้ ตามมาตรา ๕๗ (๓) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แต่ถูกจำเลยซึ่งเป็นน้องภริยาโจทก์ไปรับสิทธิใส่ชื่อแทน โดยจำเลยไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องหรือครอบครองทำประโยชน์ โจทก์ขอให้จดทะเบียนโอนเปลี่ยนมาเป็นชื่อโจทก์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนชื่อของจำเลยใน ส.ป.ก. ๔-๐๑ และจดทะเบียนโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของและห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดิน ส่วนจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยถูกต้องตามกฎหมายและขอให้ขับไล่โจทก์ เห็นว่า เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง ในนิติสัมพันธ์ที่จะต้องรับผิดต่อกันในทางแพ่ง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสมนึก สายแก้ว โจทก์ นายสมจิตร ดีงาม จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สุขสันต์ สิงหเดช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สุขสันต์ สิงหเดช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share