คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารจำเลยฐานละเมิด ซึ่งมีสาเหตุมาจากประเด็นข้อโต้เถียงว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองด้วย แต่ศาลมีคำพิพากษายกคำขอที่ให้จดทะเบียนถอนจำนองเนื่องจากโจทก์ยังมีภาระดอกเบี้ยค้างชำระ จึงฟ้องบังคับให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองไม่ได้ และแม้ว่าศาลในคดีก่อนจะวินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้ตามที่จำเลยทวงถาม ซึ่งย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้รับชำระดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วแต่ศาลก็ได้กล่าวต่อไปว่า การที่จำเลยเพิ่งจัดทำบัญชีคู่ขนานขึ้นมาเองในภายหลังโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีความถูกต้องเพียงใด หาอาจนำขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดของจำเลยไม่ อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ชำระหนี้ที่เหลือในส่วนดอกเบี้ยครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการชี้ถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่แจ้งหนี้ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยอ้างว่าคิดผิดให้โจทก์ทราบ หาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วแต่อย่างใดไม่ ส่วนคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าโจทก์ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระแก่จำเลยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้เพราะฎีกาไม่แจ้งชัดดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยยังไม่ครบถ้วน และเมื่อปรากฏว่าหลังจากมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้วโจทก์ไม่เคยชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยอีก ประเด็นที่ว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วหรือไม่จึงเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยโดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลย โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 11719 ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม จำนองเป็นประกันไว้เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2525 ในวงเงิน300,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2536 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินไปชำระหนี้ โดยยอดหนี้ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2536 เป็นเงิน 554,604.88 บาท โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมไถ่ถอนจำนองให้โจทก์ อ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยจำเลยอยู่อีก 900,000 บาทเศษ เนื่องจากโจทก์ขายที่ดินแปลงที่จำนองไว้กับจำเลยให้แก่นายจุมพล ทวีไชยภาคย์ เมื่อจำเลยไม่ให้ไถ่ถอนจำนองเป็นเหตุให้โจทก์ถูกผู้ซื้อปรับเป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายและให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2076/2538 หมายเลขแดงที่ 1226/2539 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาท ศาลมิได้พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง เพราะโจทก์มิได้ฎีกาโดยชัดแจ้งจึงไม่วินิจฉัยให้ แต่ในคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโจทก์สามารถนำที่ดินออกขายชำระหนี้ ซึ่งโจทก์เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวทุกเดือน จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 11719 ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน500,000 บาท และใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,000,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง

จำเลยให้การว่า เดิมโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานละเมิดและไถ่ถอนจำนอง จนศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยชำระเงิน500,000 บาท แก่โจทก์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีเดิมมิได้บังคับให้จำเลยต้องไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ ประเด็นเรื่องไถ่ถอนจำนองโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา จึงถือได้ว่ารับการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า นอกจากคดีนี้คู่ความยังพิพาทเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2076/2538 หมายเลขแดงที่ 1226/2539 คดีถึงที่สุดแล้วหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โจทก์ไม่เคยชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนซึ่งมีคู่ความเดียวกันตามคดีหมายเลขดำที่ 2076/2538หมายเลขแดงที่ 1226/2539 หรือไม่ โจทก์ฎีกาอ้างว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิด และศาลฎีกาในคดีก่อนก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วน ส่วนที่ไม่วินิจฉัยเรื่องการขอจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินเพราะศาลฎีกาอ้างว่าฎีกาโจทก์ไม่ชัดแจ้ง ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกาว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เป็นประเด็นข้อ 3 ว่า โจทก์ฟ้องบังคับให้ไถ่ถอนจำนองได้หรือไม่ เมื่อโจทก์มาฟ้องขอให้จดทะเบียนไถ่ถอนการจำนอง คดีย่อมมีประเด็นเดียวกันและเมื่อศาลฎีกาในคดีก่อนไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ ประเด็นดังกล่าวย่อมถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้จำนอง เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 บัญญัติห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ในคดีก่อนแม้โจทก์จะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิด แต่ก็มีสาเหตุมาจากประเด็นข้อโต้เถียงกันว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ โจทก์ยังมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองอีกด้วย เมื่อคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จดทะเบียนถอนการจำนองที่ดินโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ยังมีภาระดอกเบี้ยค้างชำระ จึงฟ้องบังคับให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองไม่ได้และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันนี้เช่นกันว่า โจทก์ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระอีกจำนวนหนึ่งและศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้ โดยอ้างว่าฎีกาโจทก์ไม่แจ้งชัด จึงต้องถือว่าประเด็นดังกล่าวในคดีก่อนฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่า โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยยังไม่ครบถ้วน เมื่อคดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลชั้นต้นได้สอบถามโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 8 ธันวาคม 2541 ว่า หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีเดิม โจทก์ไม่เคยชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยอีก ประเด็นที่ว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วหรือไม่จึงเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนที่โจทก์ฎีกาอ้างในประการต่อไปว่า ที่ตอบศาลชั้นต้นดังกล่าวเพราะโจทก์ได้ชำระหนี้แก่จำเลยครบถ้วนตามที่ศาลฎีกาในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้แล้วนั้น เห็นว่า ในคดีก่อนศาลฎีกาเพียงวินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้ตามที่จำเลยทวงถามย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้รับชำระดอกเบี้ยครบถ้วนแล้ว แต่ศาลฎีกาก็ได้กล่าวต่อไปว่า การที่จำเลยเพิ่งมาจัดทำบัญชีคู่ขนาน (คือดอกเบี้ยจากบัญชีที่ถูกพักไว้) ขึ้นมาเองในภายหลังโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีความถูกต้องเพียงใด หาอาจนำขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดของจำเลยไม่ แสดงว่าคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในเรื่องว่า โจทก์ชำระหนี้ที่เหลือในส่วนดอกเบี้ยครบถ้วนหรือไม่เป็นเพียงการชี้ถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่แจ้งหนี้ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยอ้างว่าคิดผิดให้โจทก์ทราบ หาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share