แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 และธ . ทำกำแพงพิพาทเป็นรั้วยาวตลอดแนวเขตด้านทิศตะวันตกของที่ดินแปลงใหญ่ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมกัน เพื่อปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกและที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดิน
แปลงใหญ่ หลังจากนั้นได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงใหญ่เป็น 4 แปลง โจทก์ จำเลยที่ 2 และ ธ. ต่างเป็นเจ้าของที่ดินคนละแปลง และยังคงถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงที่เหลือเพราะประสงค์จะใช้เป็นทางส่วนบุคคลเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับที่ดินที่แต่ละคนต่างเป็นเจ้าของ โดยมิได้รื้อถอนกำแพงพิพาททางด้านทิศตะวันตกของที่ดินแปลงที่เหลือดังกล่าว แล้ว ธ. ยกที่ดินของตนและที่ดินที่ถือกรรมสิทธิ์รวามให้แก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ซึ่งได้รับยกให้ที่ดินแปลงที่ติดกับกำแพงพิพาททางด้านทิศตะวันตกขอให้จำเลยทั้งสองเปิดแนวกำแพงพิพาทเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับที่ดินแปลงที่ตนได้รับยกให้ ไม่เป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ซึ่งเจ้าของรวมทุกคนต้องเห็นชอบด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสุดท้าย เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยินยอม โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางหรือยินยอมให้เปิดทางตามแนวกำแพงยาวประมาณ ๒ เมตร ระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๙๑๓ กับ ๑๙๓๘๙๙ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกับบริวารขัดขวางโจทก์กับบริวารในการเปิดทางและใช้ทางผ่านไปมาระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๙๑๕ กับ ๑๙๓๘๙๙ ของโจทก์ และเข้าออกสู่ทางสาธารณะ ซอยนนทบุรี ๘
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาทหรือไม่ เห็นว่า หลังจากโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์ซื้อที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ ๒๑๐๓ มาแล้ว ได้มีการทำกำแพงพิพาทเป็นรั้วยาวตลอดแนวเขตเฉพาะทางด้านทิศตะวันตก แสดงว่าโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์ประสงค์จะ ปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกและที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ ๒๑๐๓ ของบุคคลทั้งสาม ต่อมาเมื่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงใหญ่โฉนด เลขที่ ๒๑๐๓ ออกเป็น ๔ แปลง โดยโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์เป็นเจ้าของคนละ ๑ แปลง แล้วโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์ยังถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกคือโฉนดเลขที่ ๑๑๗๙๑๓ ซึ่งอยู่ติดกับแนวกำแพงพิพาท และใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศเหนือ โดยมิได้มีการรื้อถอนกำแพงพิพาทแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์ ประสงค์จะใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๗๙๑๓ เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศเหนือเพื่อประโยชน์สำหรับที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ และนายธานินทร์ซึ่งได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกมาเป็น ส่วนสัดเท่านั้น และยังมีความประสงค์เดิมที่จะไม่ให้บุคคลภายนอกและที่ดินแปลงอื่นทางด้านทิศตะวันตกเข้ามา ยุ่งเกี่ยวและใช้ประโยชน์อีกต่อไป แม้ต่อมาโจทก์จะเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๓๘๙๙ โดยได้รับการยกให้จาก นายอิสระก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองเปิดแนวกำแพงพิพาทบริเวณด้านหน้าของที่ดินดังกล่าวก็เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๓๘๙๙ ด้วย จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์ซึ่งเจ้าของรวมทุกคนต้อง เห็นชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๘ วรรคสุดท้าย มิได้เป็นการใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๐ วรรคหนึ่ง ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของรวมไม่ยินยอมให้ที่ดินแปลงอื่นของโจทก์มาใช้ประโยชน์ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เปิดแนวกำแพงพิพาท ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ