คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 นั้นต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อประเด็นแห่งคดีมีว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงความไม่ถูกต้องของการทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องไว้แล้ว การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและสำเนาสัญญากู้ยืมเงินก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์ในการเขียนสัญญากู้ยืมเงิน อันเป็นการสืบตามประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของพยานโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิสืบตามประเด็นข้อต่อสู้ของตนได้ แม้จะมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ก็ตาม กรณีมิใช่การจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์แต่อย่างใด จำเลยไม่จำต้องถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้และรับเงินไปจากโจทก์จำนวน180,000 บาท ยอมชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนในวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยทำหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้เป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียง 17,500 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยนับแต่เดือนสิงหาคม 2538 ตลอดมาดอกเบี้ยคงค้างถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,880 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 201,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน180,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอมเพราะโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงิน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับซึ่งยังไม่มีการกรอกข้อความแต่โจทก์นำไปกรอกข้อความในภายหลังว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินไปตามฟ้องโดยมีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง และไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์ จำนวน 48,760บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 47,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2539) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากโจทก์สืบพยานเสร็จแล้วเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เป็นการขอระบุพยานบุคคลที่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ส่วนคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 เป็นการขอระบุพยานเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินที่ผู้อื่นเคยกู้ยืมเงินโจทก์ในครั้งก่อน เอกสารดังกล่าวอยู่กับโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ทราบว่ามีอยู่จึงไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานได้ทัน หากจำเลยทั้งสามได้นำสืบถึงหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว จะแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดว่า โจทก์มีวิธีเขียนสัญญาอย่างไร ซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมของโจทก์ ตามประเด็นหน้าที่นำสืบของจำเลยว่า หนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ปลอมหรือไม่ ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อนศาลพิพากษาคดี อันเป็นการขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม แล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องของจำเลยทั้งสามแล้ว เห็นว่า เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นจึงอนุญาตให้จำเลยทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามนำสืบนายสุริชัย ไชยวงษา นายนิติ ระเวียง นายทองผลองอาจ นายโสภณ บุญยาน้อย และสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ป.ล.2 และ ป.ล.3 โดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ก่อน การที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็น หรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ เมื่อประเด็นแห่งคดีมีว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ถามค้านพยานโจทก์ถึงความไม่ถูกต้องของการทำหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีนี้ไว้แล้ว การที่จำเลยทั้งสามนำสืบนายสุริชัย นายนิติ นายทองผลนายโสภณ และสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ป.ล.2 และ ป.ล.3 เพื่อแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความประพฤติของโจทก์ในการเขียนหนังสือสัญญากู้เงิน อันเป็นการนำสืบตามประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงถ้อยคำของพยานโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธินำสืบตามประเด็นข้อต่อสู้ของตนได้ แม้จะมิได้ถามค้านพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้ ไม่ใช่เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกา จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ที่จำเลยทั้งสามจะต้องถามค้านพยานโจทก์ไว้ ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่า หนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาววรังคณา ผาตะพงษ์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 จำเลยทั้งสามไปที่บ้านโจทก์ที่บ้านเลขที่ 35/2ถนนวัฒนา ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินจากโจทก์ จำนวน 180,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปแล้วและทำหนังสือสัญญากู้เงินไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ตามลำดับ โดยนางสาววรังคณาเป็นผู้เขียนข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสามนำสืบว่า ในวันดังกล่าว โจทก์และนางสาววรังคณาเดินทางไปที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอสว่างแดนดิน จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจำนวน 60,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงิน และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญาค้ำประกันโดยไม่ได้กรอกข้อความ โจทก์กรอกข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันให้มีจำนวนเงินสูงกว่าความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสามไม่ยินยอม และจำเลยทั้งสามมีนายนิติ ระเวียง นายสุริชัย ไชยวงษา นายทองผล องอาจ และนายโสภณ บุญยาน้อย เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในการกู้เงินจากโจทก์ โจทก์จะนำแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินมาให้ผู้กู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้ ส่วนข้อความอื่นในสัญญาจะไม่มีการกรอกข้อความไว้ หลังจากนั้นโจทก์จะกรอกข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินให้มีจำนวนเงินสูงกว่าความเป็นจริงโดยนายนิติกู้เงินไปเพียง 50,000 บาทโจทก์กรอกข้อความลงไป 150,000 บาท นายทองผลกู้เงินไปเพียง 70,000 บาท โจทก์กรอกข้อความลงไป 180,000 บาท นายโสภณกู้เงินไปเพียง30,000 บาท โจทก์กรอกข้อความลงไป 70,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ป.ล.2 และ ป.ล.3 ของศาลจังหวัดสว่างแดนดิน และนายสุริชัยยืนยันว่าในการกู้เงินของตน โจทก์ให้นายสุริชัย ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้กู้ ส่วนข้อความอื่นในสัญญาจะไม่มีการกรอกข้อความไว้ในขณะลงลายมือชื่อ นายสุริชัยไม่ได้ถูกฟ้องเพราะนายสุริชัยชำระเงินครบถ้วนแล้ว เมื่อพิจารณาจากคำพยานของโจทก์ซึ่งมีตัวโจทก์และนางสาววรังคณา โดยนางสาววรังคณาเป็นลูกจ้างของโจทก์น่าเชื่อว่าเบิกความเข้าข้างโจทก์ คำพยานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนจำเลยทั้งสามอ้างตนเองเป็นพยาน และมีพยานอื่นซึ่งเคยกู้เงินจากโจทก์ในลักษณะเช่นเดียวกับจำเลยทั้งสามเบิกความสนับสนุน โดยเฉพาะนายสุริชัย แม้จะกู้เงินจากโจทก์แต่ก็ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วและไม่ได้ถูกโจทก์ฟ้อง จึงไม่น่าระแวงว่านายสุริชัยจะเบิกความให้เป็นผลร้ายแก่โจทก์เพื่อช่วยเหลือจำเลยทั้งสามโดยไม่มีมูลความจริง ดังนั้น ที่นายสุริชัยเบิกความว่าขณะที่ผู้กู้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินนั้น สัญญาดังกล่าวยังไม่ได้กรอกข้อความในช่องว่าง จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาคำพยานจำเลยประกอบหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 กับสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย ป.ล.2 และ ป.ล.3 ของศาลจังหวัดสว่างแดนดินแล้ว พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ เชื่อว่า โจทก์กรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน โดยให้มีจำนวนเงินสูงเกินความเป็นจริง โดยจำเลยทั้งสามไม่ยินยอม หนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 จึงเป็นสัญญาปลอม โจทก์จะอ้างมาเป็นพยานหลักฐานเพื่อฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่ ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมและการค้ำประกันเป็นหนังสือ จึงไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share