แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 บัญญัติว่า บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังคงค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2538 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด คดีจึงมิได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย อนึ่งแม้ตามหนังสือของผู้ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่อง รายงานศาลปิดคดี ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองไม่ได้และไม่มีการงานอย่างใดจะต้องกระทำต่อไป กับเจ้าหนี้ไม่คัดค้านที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลปิดคดี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดคดีก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ขัดขืนไม่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 หากจับจำเลยที่ 2 ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะต้องสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 117 เพื่อประโยชน์แก่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้เป็นหลักฐานในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ประกอบกับคำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้เป็นการชั่วคราว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ยังคงมีอำนาจหน้าที่บางประการตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 134 และ 160 กรณียังอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ไม่ได้ และไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายจับจำเลยที่ 2
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน2539
ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลธรรมดาที่ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลาย และหนี้อันเป็นมูลเหตุที่ฟ้องล้มละลายไม่มีลักษณะเป็นการทุจริตโดยจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ที่เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 14621/2534 ของศาลแพ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดก่อนวันเปิดทำการศาลล้มละลายกลางซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 คดีจึงไม่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยล้มละลายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมาใช้บังคับตามบทเฉพาะกาล มาตรา 29 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายมาครบ 3 ปี จำเลยที่ 2 จึงพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ถึงแม้ว่าคดีนี้ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ แต่คดีมิได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาล ประกอบกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 29 มกราคม 2541 เรื่อง รายงานศาลปิดคดี โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองไม่ได้และไม่มีการงานอย่างใดจะต้องทำต่อไป คดีมิได้อยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดคดี กรณีจึงไม่ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและเพิกถอนหมายจับที่ 109/2539ในสำนวนคดีนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ส่วนหมายจับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและเพิกถอนหมายจับที่ 109/2539 ในสำนวนคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า “บรรดาคดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2538 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2538 และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2539 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คดีถึงที่สุด คดีจึงมิได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย คงมีปัญหาแต่เพียงว่า คดีอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามหนังสือของผู้ปฏิบัติราชการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ลงวันที่ 29 มกราคม 2541 เรื่อง รายงานศาลปิดคดีได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองไม่ได้และไม่มีการงานอย่างใดจะต้องกระทำต่อไป กับเจ้าหนี้ไม่คัดค้านที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลปิดคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดคดีก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ขัดขืนไม่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 หากจับจำเลยที่ 2 ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะต้องสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 117 เพื่อ ประโยชน์แก่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้เป็นหลักฐานในการรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ประกอบกับคำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่าง ๆ ไว้เป็นการชั่วคราว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจหน้าที่บางประการตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 134 และ 160 กรณียังอยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต้องบังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จะร้องขอให้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2542 มาตรา 35 ไม่ได้และไม่มีเหตุให้เพิกถอนหมายจับที่ 109/2539 ในสำนวนคดีนี้
พิพากษายืน