คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกพิพาทมาเป็นของตนแต่ผู้เดียว แล้วต่อมาจดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 โดยโจทก์และทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามมาตรา 1720 และมาตรา 823 จำเลยที่ 2 ผู้รับการยกให้ไม่อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แม้จำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์มรดกพิพาทจากจำเลยที่ 2 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่มีสิทธิ ตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน แต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งมีทายาทด้วยกันรวม 6 คน การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคนตามมาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่ 1 ใน 6 ส่วน จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการให้และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดตราดแก้ไขทะเบียนที่ดินให้มีชื่อของผู้ตายเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม และให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม กับให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ทุกประการ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5680 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด พร้อมตึกแถวสามชั้น เลขที่ 5 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับ จำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตราด แก้ทะเบียนที่ดินให้มีชื่อนายเล็ก ผู้ตายเป็น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามเดิม และให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเล็ก ผู้ตาย กับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อแรกว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า โจทก์และทายาทอื่นของผู้ตายทราบและยินยอมให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 เห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นวินิจฉัยตามประเด็นในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วว่า การโอนทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายมาเป็นของจำเลยที่ 1 มิได้รับความยินยอมจากทายาทอื่น แล้วจำเลยที่ 1 ยกทรัพย์มรดกพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทายาทอื่นไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 3 ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับตามข้ออ้างของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่จำเลยที่ 3 ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 รับโอนทรัพย์มรดกพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวในฐานะทายาทคนหนึ่ง แล้วต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกทรัพย์มรดกพิพาททั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีคนใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์และทายาทอื่นมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ถือเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และทายาทอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 และมาตรา 823 และเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่จะนำทรัพย์มรดกพิพาทซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันให้แก่โจทก์และทายาทอื่นไปยกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 2 ผู้รับการยกให้จากจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกพิพาท ดังนี้ จำเลยที่ 3 ผู้ซื้อทรัพย์มรดกพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขาย แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในปัญหาข้อนี้อีกต่อไป แต่เนื่องจากที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งมีทายาทด้วยกันรวม 6 คน ซึ่งรวมถึงโจทก์และจำเลยที่ 1 ด้วย การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาทด้วยกันทั้งหมดทุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเพียง 1 ใน 6 ส่วน จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการให้และนิติกรรมการขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นซึ่งรวมแล้วเพียง 5 ใน 6 ส่วนเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่ดินพิพาททั้งหมด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เฉพาะส่วนของโจทก์และทายาท จำนวน 5 ใน 6 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share