คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6338/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ก.ได้รับโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม2526 ต่อมาบริษัท ก.จดทะเบียนโอนขายแก่โจทก์ทั้งห้าเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2528ในราคา 7,000,000 บาท แล้วโจทก์ทั้งห้าได้จดทะเบียนโอนขายแก่บริษัท ร.เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 ในราคา 69,800,000 บาท แต่โจทก์ที่ 2 ได้รับตั๋วแลกเงินธนาคารลงวันที่ 11 มีนาคม 2528 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท จากบริษัท ร.เป็นการชำระเงินค่าที่ดินบางส่วนตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินฉบับลงวันที่ 12มีนาคม 2528 แทนผู้ขายทุกคน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2528 อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งห้ามีความผูกพันต่อบริษัท ร.ตามสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาจากบริษัท ก. ฉะนั้น ขณะที่โจทก์ทั้งห้าได้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาโดยการจดทะเบียนซื้อจากบริษัท ก.นั้น โจทก์ทั้งห้ามีเจตนาที่จะนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนโอนขายแก่บริษัท ร.ในราคา69,800,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อขายที่มีความผูกพันกันอยู่ดังกล่าวแล้ว และหลังจากซื้อที่ดินมาได้แล้ว โจทก์ทั้งห้าก็ได้จดทะเบียนโอนขายดังกล่าวให้แก่บริษัท ร.จำกัด ไปตามเจตนาที่ซื้อมา เมื่อราคาที่ดินที่ซื้อมาต่ำ แต่ราคาที่ขายไปสูงและคำนวณผลต่างของราคาซื้อบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อลบด้วยราคาขายแล้ว ผลปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้ามีกำไรหลายเท่าตัว ทั้งราคาที่ขายไปเป็นราคาที่บริษัท ร.ตกลงไว้ตามสัญญาจะซื้อขายลงวันที่ 12 มีนาคม 2528 หาใช่ราคาตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงสูงขึ้นเอง หลังจากที่โจทก์ทั้งห้าซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาจากบริษัท ก.ไม่ ดังนี้ถือได้ว่าการที่โจทก์ทั้งห้าขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่บริษัท ร.ไปนั้นเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
เงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) จึงเป็นเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา40 (8) ซึ่งมาตรา 46 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จะได้กำหนดโดย พ.ร.ฎ.เมื่อ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ บัญญัติให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่ง ป.รัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณการประเมินโดยหักค่าใช้จ่ายให้จำนวน 8,396,290 บาท ซึ่งเป็นต้นทุนในการซื้อที่ดินมา 7,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน 1,396,290 บาทอันเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กรณีที่ผู้มีเงินได้จากการขายที่ดินซึ่งที่ดินนั้นได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร มีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้มีเงินได้จากการขายไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงาน-ประเมินได้ แนวปฏิบัติตามนัยหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0802/766 ลงวันที่ 18มกราคม 2528 ก็ให้เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายในกรณีเช่นนี้ให้ในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ตามกรณีของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าสามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ครบถ้วนและเจ้าพนักงานประเมินก็ได้หักให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว หาใช่กรณีโจทก์ทั้งห้าไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ตามนัยหนังสือดังกล่าวไม่ จึงใช้อัตราร้อยละ 75 ของเงินได้พึงประเมินตามนัยหนังสือดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินทั้งสองโฉนดจากบริษัท ร.มาเองทั้งหมดรวม 69,800,000 บาท โดยโจทก์ที่ 2มีชื่อในโฉนดที่ดินที่ขายทั้งสองโฉนดนั้น แม้โจทก์ที่ 2 จะต้องโอนเงินได้พึงประเมินให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิเพียงหักเงินภาษีจากจำนวนเงินซึ่งต้องโอนให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามส่วน เมื่อโจทก์ที่ 2 มีชื่อในโฉนดที่ดินอันเป็นหนังสือสำคัญที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินโฉนดดังกล่าว เจ้าพนักงาน-ประเมินจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 2 ได้ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 61
กรณีการอายัดที่ดินของโจทก์ที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ชำระเงินตามการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมายจึงถือเป็นภาษีอากรค้าง นายอำเภอในเขตท้องที่นั้นมีอำนาจสั่งอายัดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ได้ ส่วนคำสั่งอายัดเงินค่าประกันการใช้โทรศัพท์และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของโจทก์ที่ 4 นั้น เนื่องจากการประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 4 ไม่ชอบ จึงมีผลให้ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 4 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง นายอำเภอแห่งท้องที่จึงไม่มีอำนาจอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4และขายทอดตลาดเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างตามประเมินได้ ดังนั้น การที่นายอำเภอแห่งท้องที่สั่งอายัดเงินค่าประกันการใช้โทรศัพท์และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของโจทก์ที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบไปด้วย
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องแล้วว่า โจทก์ทั้งห้ามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีเหตุอันควรผ่อนผันให้โจทก์ทั้งห้า และศาลภาษีอากรกลางก็ได้กำหนดเป็นประเด็นไว้แล้วว่า มีเหตุอันควรลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้หรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับภาษีการค้าและเบี้ยปรับภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นในคำฟ้อง ไม่เป็นการฝ่าฝืนป.วิ.พ.มาตรา 142 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17

Share