แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธได้หรือไม่ ในกรณีที่จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัวมาและไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธข่มขู่ผู้เสียหาย และปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 หนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ฐานใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุมได้หรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 2 เพียงนำรถจักรยานยนต์เที่ยวเตร่กับจำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุยังคงขับรถเที่ยวโดยไม่ได้หลบหนีนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่ปัญหาทั้งสองประการเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
ในความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธ ถ้าผู้ร่วมกระทำความผิดแม้คนใดคนหนึ่งมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำความผิดที่ไม่มีอาวุธหรือไม่รู้ว่าผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันมีอาวุธติดตัวไป ก็ย่อมมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ทั้งยังเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามบทกฎหมายเดียวกัน
จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วขับรถจักรยานยนต์พาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจากที่เกิดเหตุ ก็เป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 83, 339, 340 ตรี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงินจำนวน 352 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบเหล็กปลายแหลมของกลาง คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ และให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 806/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 83 จำเลยที่ 1 อายุ 19 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี (ที่ถูก 17 ปี 1 เดือน 25 วัน) ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 76 ลงโทษจำคุกคนละ 9 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี ริบเหล็กปลายแหลมของกลาง คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงินจำนวน 352 แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องโจทก์และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัวมา และไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธข่มขู่ผู้เสียหาย จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์ไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์มาขับเที่ยวเตร่กับเพื่อนคือจำเลยที่ 1 และหลังเกิดเหตุก็ยังคงขับรถเที่ยวเตร่ภายในเมืองโดยมิได้หลบหนีไปที่ใด จึงมิใช่เป็นกรณีที่จะขับหลบหนีไปเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จะลงโทษจำเลยที่ 2 หนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ไม่ได้นั้น ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
ในปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อให้รับโทษหนักขึ้นไว้ว่า “ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา 335
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามหมื่นบาท” ซึ่งการกระทำผิดของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องคือมาตรา 335 (7) ที่ว่า ผู้ใดลักทรัพย์โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดฐานชิงทรัพย์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ฐานชิงทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปแล้วทั้งการชิงทรัพย์โดยมีอาวุธนั้น แม้ผู้กระทำผิดจะไม่มีอาวุธติดตัวหรือไม่รู้ว่าผู้ร่วมกระทำผิดมีอาวุธติดตัว แต่ถ้าผู้ร่วมกระทำผิดแม้คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ก็ถือได้ว่าผู้กระทำผิดที่ไม่มีอาวุธหรือไม่รู้ว่าผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันมีอาวุธติดตัวไปมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธด้วย จำเลยที่ 2 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์โดยจำเลยที่ 1 มีอาวุธติดตัว แม้จำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง แล้ว
และปัญหาที่ว่าจะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 340 ตรี ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายจนได้ทรัพย์มาแล้วจำเลยทั้งสองก็ขับรถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพย์นั้นไป ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.