แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมานอกสำนวน ย่อมไม่มีผลให้ศาลฎีกาจำต้องถือตาม
เดิมโจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย หลังจากโจทก์เกษียณอายุการทำงานจำเลยได้ทำสัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานอีก 1 ปี ในหน้าที่เดิม ดังนั้น งานที่โจทก์ทำก่อนเกษียณก็ดี หลังเกษียณก็ดีเป็นงานในลักษณะเดียวกันในธุรกิจเดิมของจำเลย เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลย จึงมิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน อันจะเข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม และที่โจทก์กับจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาการว่าจ้าง โดยกำหนดว่า ผู้รับจ้างขอให้สัญญาว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้และ/หรือ ผู้รับจ้างถูกเลิกสัญญาผู้รับจ้างไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากบริษัททั้งสิ้นนั้น เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานหน้าที่ผู้จัดการส่วนพัฒนาตลาดเงินทุนได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 38,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่31 ธันวาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 115,500 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 115,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นหนังสือ กำหนดระยะเวลาการจ้างเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 และกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวและมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน อีกทั้งมีข้อสัญญาว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างที่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคแรก และวรรคสอง ส่วนวรรคสามและวรรคสี่เป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างหรือจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 แม้งานที่จำเลยจ้างโจทก์อีก 1 ปี จะเป็นงานในหน้าที่เดิมก็ตามก็เป็นการจ้างเพื่อให้โจทก์ถ่ายทอดงานให้แก่ผู้ที่จะมารับงานแทนโจทก์ งานที่โจทก์ทำต่อมาจึงมีลักษณะเป็นครั้งคราว เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46วรรคสามและวรรคสี่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุสัญญาจ้างสิ้นสุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า งานที่โจทก์ทำไม่ใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน อันจะเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ นั้นเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่กำหนดไว้ว่า การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน ฯลฯ ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า เดิมโจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการส่วนพัฒนาตลาดเงินทุนมีหน้าที่ดูแลลูกค้าเงินฝากของจำเลย หลังจากโจทก์เกษียณอายุการทำงาน จำเลยได้ทำสัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานอีก 1 ปี ในหน้าที่เดิม ดังนั้น งานที่โจทก์ทำก่อนเกษียณก็ดี หลังเกษียณก็ดีเป็นงานในลักษณะเดียวกันในธุรกิจเดิมของจำเลย เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลยจึงมิใช่งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน อันจะเข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยจ้างโจทก์เพื่อถ่ายทอดงานให้แก่ผู้ที่จะมารับงานแทนโจทก์ ตามที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานอกสำนวน จึงไม่มีผลให้ศาลฎีกาจำต้องถือตาม โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม
ที่โจทก์กับจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาการว่าจ้างตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 โดยกำหนดไว้ในข้อที่ 6 ว่า ผู้รับจ้างขอให้สัญญาว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 1 และ/หรือ ผู้รับจ้างถูกเลิกสัญญาตามข้อ 5 ผู้รับจ้างไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าชดเชย ฯลฯ จากบริษัททั้งสิ้นนั้น เห็นว่า เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทำงานมาครบ 1 ปี โจทก์ก็ชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 115,500 บาท ตามฟ้อง
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 115,500 บาท แก่โจทก์