คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4027/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อำนาจของผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งประเทศอังกฤษจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศใดย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงเรื่องอำนาจของผู้จัดการมรดกว่าต้องใช้กฎหมายใดบังคับ กรณีจึงต้องใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับ ซึ่งตามกฎเกณฑ์ทั่วไปนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับอาจเป็นกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา เมื่อโจทก์มีสัญชาติอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้หลักกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมได้แก่กฎหมายแห่งประเทศอังกฤษแต่การที่ต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นบัญญัติไว้อย่างไร เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นเป็นที่ชัดแจ้งว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษบัญญัติไว้เช่นนั้นจริง กรณีนี้จึงต้องใช้กฎหมายภายในประเทศไทยบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 บัญญัติถึงเรื่องการที่บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ถ้าผู้จัดการมรดกบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลร่วมกับจ. จึงไม่อาจนำมาตรา 1715 มาใช้บังคับได้เมื่อ จ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์เพียงคนเดียวจะฟ้องคดีนี้ต่อไปตามลำพังโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษและเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลแห่งประเทศอังกฤษเช่นนี้ อำนาจของผู้จัดการมรดกจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศใด ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติถึงเรื่องอำนาจของผู้จัดการมรดกว่าต้องใช้กฎหมายใดบังคับ กรณีจึงต้องใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับ ซึ่งตามกฎเกณฑ์ทั่วไปนั้น กฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับอาจเป็นกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนา โจทก์คดีนี้มีสัญชาติอังกฤษและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอังกฤษ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้หลักกฎหมายสัญชาติหรือกฎหมายภูมิลำเนากฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีย่อมได้แก่กฎหมายแห่งประเทศอังกฤษ แต่การที่ต้องใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่กรณีเช่นนี้เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นบัญญัติไว้อย่างไร คดีนี้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ากฎหมายอังกฤษบัญญัติถึงเรื่องอำนาจของผู้จัดการมรดกไว้อย่างไร คงมีเพียงนายเกรียงศักดิ์ นันทเสน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า นายเกรียงศักดิ์สอบถามทนายความของโจทก์ที่ประเทศอังกฤษแล้วได้รับคำยืนยันว่า ผู้จัดการมรดกที่เหลือเพียงคนเดียวสามารถจัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้โดยติดต่อทางโทรศัพท์ ทนายดังกล่าวชื่ออะไรไม่ทราบเพราะเป็นการติดต่อในนามสำนักงาน ซึ่งเห็นได้ว่าคำเบิกความของนายเกรียงศักดิ์ดังกล่าวเลื่อนลอยไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นเป็นที่ชัดแจ้งว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษบัญญัติไว้เช่นนั้นจริง กรณีนี้จึงต้องใช้กฎหมายภายในประเทศไทยบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1715 บัญญัติถึงเรื่องการที่บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ถ้าผู้จัดการมรดกบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการและยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่คดีนี้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลร่วมกับนายจอห์น จึงไม่อาจนำมาตรา 1715 มาใช้บังคับได้ เมื่อนายจอห์นซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตายโจทก์เพียงคนเดียวจะฟ้องคดีนี้ต่อไปตามลำพังโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียวย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146(5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในปัญหาว่า คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share