คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3176/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 39 วรรคสอง กำหนดว่า ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือนโดยไม่คิดค่าอย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ผู้เสียภาษีฟ้องขอคืนภาษีที่ต้องชำระเกินไปและศาลพิพากษาให้คืนจำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายใน 3 เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด โดยมิต้องเสียดอกเบี้ย หากจำเลยไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแต่การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน นับจากวันฟังคำพิพากษานี้ ซึ่งก็คือวันอ่านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางนั้นไม่ชอบด้วยความในมาตรา 39 วรรคสอง เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง กรณีต้องนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2543 จากค่าเช่าโรงเรือนทั้งปี เป็นเงิน 253,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2543 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 111,425 บาท โดยกำหนดค่ารายปี 891,400 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จึงอุทธรณ์ขอให้มีการพิจารณาการประเมินใหม่ ต่อมามีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีสำหรับโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 93,613 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดแต่จำต้องชำระค่าภาษี เนื่องจากการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองได้นำเอาค่าเช่าโรงเรือนที่มีค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์ค่าเช่าเครื่องไฟฟ้า ค่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและค่าบริการพื้นที่จอดรถรวมอยู่ด้วยและยังคิดพื้นที่ต่อเนื่องที่เป็นที่จอดรถซ้ำอีกมากำหนดค่ารายปี ทำให้ค่าภาษีสูงเกินกว่าที่โจทก์ต้องชำระตามกฎหมายเป็นเงิน 61,988 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2543 เป็นเงิน 111,425 บาท และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2543 เป็นเงิน 93,613 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 61,988 บาท แก่โจทก์ ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยที่ 1เสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงิน 61,988 บาท นับถัดจากวันครบกำหนดสามเดือน

จำเลยทั้งสองให้การว่าการประเมินและคำชี้ขาดชอบแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องคืนเงินค่าภาษี 61,988 บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2543 ตามใบแจ้งที่ นม 52302/744 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2543 และคำชี้ขาดที่ นม 52302/1338 ลงวันที่ 8 กันยายน 2543 (ที่ถูกใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2543) ให้โจทก์ชำระค่าภาษีเป็นเงิน 83,612.50 บาท และให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีจำนวน 10,000.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่พ้นกำหนดสามเดือนนับจากวันฟังคำพิพากษานี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าอพาร์ตเมนต์ อาคารเป็นตึก 4 ชั้น มีห้องให้เช่า 66 ห้อง ค่ารายปีสำหรับห้องเช่าในการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ในปีภาษี 2543 คิดเป็นค่าเช่าในอัตราห้องละ2,500 บาทต่อเดือน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่าศาลภาษีอากรกลางกำหนดจำนวนห้องที่มีการให้เช่าและนำมาคำนวณภาษีของโจทก์ในปีภาษี 2543 รวมจำนวน 253 ห้อง ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาจำนวนห้องพักปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องแจ้งห้องว่างของอพาร์ตเมนต์ให้เช่าในปี 2542 ต่อจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 29 ถึง 40 หรือ ล.2 แผ่นที่ 6 ถึง 18 ซึ่งนางศรีนวล ปัญญาใสเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ของจำเลยที่ 1 ได้ไปตรวจสอบห้องว่างตามคำร้องดังกล่าวแม้จะปรากฏว่าในบางเดือนผลการตรวจห้องว่างจะไม่ตรงกับที่โจทก์แจ้งไว้ตามคำร้องและนางศรีนวลได้บันทึกไว้ท้ายคำร้องแต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือพนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจดังกล่าวไว้ เมื่อประกอบกับนางศรีนวลเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า แม้จะระบุไว้ในคำร้องแจ้งห้องว่างของโจทก์ว่าควรทำหนังสือแจ้งห้องไม่ว่างให้โจทก์ทราบ แต่ก็ไม่ได้ทำ อีกทั้งนางศรีนวลยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ด้วยว่าได้บันทึกจำนวนห้องว่างที่ไปตรวจไม่ตรงตามความเป็นจริงหลายเดือนดังนี้ จำนวนห้องว่างตามบันทึกการตรวจห้องว่างและรายงานการตรวจของนางศรีนวลจึงไม่ถูกต้องไม่ชอบที่จะนำมารับฟังเป็นผลร้ายต่อโจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำข้อมูลจำนวนห้องว่างจากการตรวจของนางศรีนวลไปประเมินเปลี่ยนแปลงจำนวนห้องที่มีการให้เช่าตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2543 ที่โจทก์ได้ยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีระบุจำนวนห้องที่มีการให้เช่าไว้จำนวน 253 ห้องตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดจำนวนห้องที่มีการให้เช่าและนำมาคำนวณภาษีของโจทก์ในปีภาษี 2543รวมจำนวน 253 ห้อง จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ในปัญหานี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39 วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด” จึงแสดงว่าในกรณีที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินภาษีที่โจทก์จำต้องชำระเกินไปและศาลพิพากษาให้คืน จำเลยก็ต้องคืนให้โจทก์ภายใน 3 เดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุดโดยมิต้องเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าจำเลยไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าว จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้จำเลยเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่พ้นกำหนด 3 เดือน นับจากวันฟังคำพิพากษานี้ ซึ่งหมายถึงนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางนั้น เมื่อคดีนี้ไม่ถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยความในมาตรา 39 วรรคสอง ข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรี เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนด 3 เดือน ที่นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2

Share