คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4817/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งได้รับอันตรายสาหัสฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291,300 และ 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4)และ 157 แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายอื่นที่เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือสามีผู้เสียหายอื่นซึ่งถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเหล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291,300 และ 390 ซึ่งบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหาย และโดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 เพราะความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา 43(4) และ 157 ด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนขับรถยนต์โดยประมาทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย พิพากษายกฟ้อง เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษามานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ฎีกาเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ แม้จะมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ก็ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้อนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน จำเลยได้ขับรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน พ-6956 ราชบุรี โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ โดยจำเลยอาจจะใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ โดยจำเลยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความเร็วสูง และขับล้ำกึ่งกลางถนนเข้าไปในทางเดินรถที่โจทก์ขับสวนทางมา ทำให้รถยนต์ที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 10-1361 กาญจนบุรี ซึ่งโจทก์เป็นผู้ขับจากทางอำเภอเมืองกาญจนบุรีมุ่งหน้าไปทางอำเภอทองผาภูมิเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันพลิกคว่ำและมีผู้โดยสารในรถทั้งสองคันได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตาย ส่วนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัสกระดูกขาขวาท่อนบนหักและท่อนล่างร้าว บาดเจ็บที่ช่องท้องและที่หลังมือข้างซ้าย ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนารักษาตัวเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษ และประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้ และทำให้เด็กหญิงปนัดดา สุขจิตต์ ถึงแก่ความตาย นางสาวสุลาวัลย์ ไทรสังขละเจติยกุลจ่าสิบตำรวจเลิศ ศักดิ์ดี และนางบังเอิญ สุขจิตต์ ได้รับอันตรายสาหัส นางสาวสมใจเรืองลำพู นายบุญชัย บุญหล้า นางพิศมัย พุดสโต นายปัญญา ด่านขุนทด นางสาวนิภาพร สุขจิตต์ และเด็กหญิงทิพวรรณ พุดสโต ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับ ทำให้เด็กหญิงปนัดดา สุขจิตต์ ถึงแก่ความตายโจทก์ นางสาวสุลาวัลย์ ไทรสังขละเจติยะคุณ จ่าสิบตำรวจเลิศ ศักดิ์ดี และนางบังเอิญสุขจิตต์ ได้รับอันตรายสาหัสและนางสาวสมใจ เรืองลำพู นายบุญชัย บุญหล้า นางพิศมัยพุดสโต นายปัญญา ด่านขุนทด นางสาวนิภาพร สุขจิตต์ และเด็กหญิงทิพวรรณ พุดสโตได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายอื่นที่เป็นผู้เยาว์หรือเป็นผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือสามีผู้เสียหายอื่นซึ่งถึงแก่ความตาย หรือได้รับอันตรายสาหัส หรือได้รับอันตรายแก่กายดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเหล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 ซึ่งบุคคลอื่นเป็นผู้เสียหายและโดยที่โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 เพราะความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดต่อรัฐ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามมาตรา 43(4) และ 157 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) และ 157 ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนขับรถยนต์โดยประมาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โดยที่โจทก์เป็นผู้เสียหายเฉพาะในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 และความผิดฐานดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เหตุรถยนต์ชนกันในคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษามานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาก็ตาม แต่การอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดย มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้นมิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและพิพากษามาโดยมิได้พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ390 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ยกฎีกาโจทก์ และคงให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share