คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้ มิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างพนักงานแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า “นายจ้างและลูกจ้างยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิใด ๆ ที่จะพึงมีตามสัญญานี้เพื่อระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อน ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” ก็ตาม กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 ให้อำนาจศาลที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.11 เป็นพยานและรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว ทั้งที่โจทก์มิได้ระบุเอกสารทั้งสองฉบับไว้ในบัญชีระบุพยานของโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า กิจการของจำเลยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องนับแต่ดำเนินการในปี 2538 จนถึงปี 2542 รวมเป็นเงินถึง 40 ล้านบาท และนอกจากโจทก์แล้วจำเลยยังได้เลิกจ้างพนักงานอื่น ๆ อีก 2 คน ตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยมีทุนจดทะเบียนดำเนินการถึง 208,500,000 บาท ประกอบกับจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าปกติการดำเนินธุรกิจประกันภัยสหกรณ์อย่างเช่นกิจการของจำเลยจะขาดทุนต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปี แรก และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า แนวโน้มในการดำเนินกิจการของจำเลยในปีต่อ ๆ ไปนั้นจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการกิจการต่อไปได้หากไม่แก้ไขการจัดการโดยวิธีเลิกจ้างโจทก์ ฉะนั้นจึงถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นยังไม่มีเหตุอันสมควรอย่างเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าเป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานต่อไปในตำแหน่งเดิมหากไม่ประสงค์รับโจทก์ที่ 1 เข้าทำงานขอให้ชำระค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2ไม่ประสงค์ทำงานกับจำเลยต่อไป จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538 ถึงปี 2542 เป็นเงิน 40 ล้านบาท จึงเห็นควรให้ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในหมวดเงินเดือนและค่าจ้างตามนโยบายของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น จำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จำเลยมิได้เลิกจ้างเพียงโจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานไม่มีอำนาจพิจารณาเนื่องจากตามสัญญาจ้างข้อ 9 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน448,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเนื่องจากสัญญาจ้างพนักงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยระบุไว้ว่าในกรณีที่มีข้อพิพาทจะต้องประนีประนอมโดยอนุญาโตตุลาการก่อนศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้นเห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตามสัญญาจ้างพนักงานเอกสารหมายล.5 และ ล.6 ข้อ 9 ระบุว่า “นายจ้างและลูกจ้างยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิใด ๆที่จะพึงมีตามสัญญานี้เพื่อระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อน ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเกี่ยวกับสิทธิอย่างใดตามสัญญาจ้างพนักงานซึ่งโจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ตกลงจัดทำไว้ตามเอกสารหมาย ล.5และ ล.6 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องเสนอข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการให้เป็นผู้ชี้ขาดก่อนและเป็นผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2530 มาตรา 10 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะหรือไม่สามารถระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองว่ามูลกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49บัญญัติไว้ มิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างพนักงานตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 แต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้เนื่องจากมิได้อยู่ในเงื่อนไขข้อตกลงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงโดยพิจารณาจากผลงานวิจัยของชาวเยอรมันตามเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกับรายงานกิจการประจำปี พ.ศ. 2539 เอกสารหมายเลข จ.11 ว่า จำเลยทราบดีว่าปกติธุรกิจประกันภัยสหกรณ์อย่างจำเลยจะขาดทุนต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปีแรก นั้นด้วยกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองอ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.11 เป็นพยานโดยมิได้ระบุเอกสารทั้งสองฉบับไว้ในบัญชีระบุพยานของโจทก์ทั้งสอง การรับฟังข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าวของศาลแรงงานกลางจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 29 บัญญัติหลักการสำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานไว้ว่าจะต้องเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม หากประเด็นใดคู่ความไม่อาจตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันได้มาตรา 39 ก็บัญญัติให้ศาลแรงงานจดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ระบุให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานเข้าสืบก่อนหรือหลังแล้วกำหนดวันสืบพยานไปทันทีในการสืบพยานของคู่ความนั้นตามมาตรา 44 และข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน ข้อ 10 ซึ่งออกใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 ให้อำนาจศาลแรงงานสอบถามคู่ความแต่ละฝ่ายว่าประสงค์จะอ้างและสืบพยานใดบ้าง แล้วจดรายชื่อและที่อยู่ของพยานบุคคล สภาพและสถานที่เก็บของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุไว้ หรือจะให้คู่ความทำบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลแรงงานในวันนั้นหรือภายในกำหนด 2 วัน ก็ได้ หากศาลแรงงานเห็นว่าพยานที่คู่ความนำมาสืบยังไม่ได้ข้อเท็จจริงแห่งคดีแจ้งชัด ศาลก็มีอำนาจตามมาตรา 45 ที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) และมาตรา 88มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินการกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ เมื่อศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานมาสืบได้เองหรือกำหนดให้คู่ความนำพยานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้ดังกล่าวมาแล้วการที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองอ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.11 เป็นพยานและรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ากิจการของจำเลยประสบภาวะการขาดทุนต่อเนื่องนับแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี 2538 จนถึงปี2542 รวมเป็นเงินถึง 40 ล้านบาท และนอกจากโจทก์ทั้งสองแล้วจำเลยยังได้เลิกจ้างพนักงานอื่น ๆ อีก 2 คน ตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยมีทุนจดทะเบียนดำเนินการถึง 208,500,000 บาท ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้าเอกสารหมาย ล.1 ประกอบกับจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าปกติการดำเนินธุรกิจประกันภัยสหกรณ์อย่างเช่นกิจการของจำเลยจะขาดทุนต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปีแรก และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่าภาวะการขาดทุนของจำเลยในขณะที่เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองกับแนวโน้มในการดำเนินกิจการของจำเลยในปีต่อ ๆ ไปนั้นจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้หากไม่แก้ไขการจัดการโดยวิธีเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ฉะนั้นจึงต้องถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นยังไม่มีเหตุอันสมควรอย่างเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share