คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความซึ่งระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันว่าแม้ลูกหนี้ตายเกิน 1 ปีผู้ค้ำประกันก็คงยอมรับใช้แทน นั้น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นการขยายอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเหลี่ยมสามีจำเลยกู้เงินโจทก์ไป 900 บาทดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน บัดนี้นายเหลี่ยมถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ย 5 ปี ขอให้บังคับจำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 1,228.50 บาท

จำเลยให้การรับว่าได้ค้ำประกันเงินกู้ที่ฟ้องจริง แต่นายเหลี่ยมถึงแก่กรรมไปแต่ พ.ศ. 2502 จึงขาดอายุความ สัญญาค้ำประกันก็ขาดอายุความไปด้วย และโจทก์ได้ทำนาของนายเหลี่ยมมา 8 ปีแทนดอกเบี้ย จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยาน และพิพากษาว่าตามคำรับของคู่ความ จำเลยทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้นายเหลี่ยมซึ่งกู้เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยนายเหลี่ยมมอบนาให้โจทก์ทำต่างดอกเบี้ยมา 8 ปีแล้ว นายเหลี่ยมตายเมื่อ พ.ศ. 2502 โจทก์ก็ทราบ สิทธิที่จะเรียกร้องจากลูกหนี้จึงขาดอายุความ เพราะเกิน 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ตาย สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นอุปกรณ์ก็ขาดอายุความด้วยแม้ตามสัญญาค้ำประกันจะระบุให้รับผิดเมื่อลูกหนี้ตายเกินกว่า 1 ปีก็ตามข้อสัญญานี้เป็นการขยายอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ซึ่งขัดต่อมาตรา 191 จึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สัญญาค้ำประกันรายนี้ระบุไว้ว่า “ถ้าผู้กู้ไม่ชำระหนี้ด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี หรือล้มตายแม้จะเกินอายุความ 1 ปี ฯลฯ ท่านต้องการต้นเงินดอกเบี้ยจากผู้กู้ไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ข้าพเจ้าผู้ค้ำประกันยอมรับใช้แทน” ตามสัญญาค้ำประกันนี้ไม่ใช่เป็นการขยายอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191เพราะไม่ใช่ขยายเวลายอมให้ฟ้องเรียกเงินจากกองมรดก หากเป็นนิติกรรมซึ่งจำเลยยอมผูกพันตนให้โจทก์ฟ้องได้เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นตามเงื่อนไข จึงพิพากษากลับให้จำเลยใช้ต้นเงิน 900 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปดอกเบี้ยที่ค้างนั้นโจทก์ทำนาต่างดอกเบี้ยแล้ว ไม่คิดให้

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณามาตรา 698 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ความในมาตรานี้มิได้หมายความว่าจะถือเป็นเด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียเลย จะเห็นได้จากการพิจารณาความในมาตรา 681มาเปรียบเทียบแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้แต่หนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดก็ยังอาจค้ำประกันได้ในบางกรณี ฉะนั้น ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนให้รับผิดในหนี้ที่ขาดอายุความเรียกร้องจากลูกหนี้จึงอาจจะกระทำได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะอายุความนั้นถ้าไม่ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็ไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยจึงเห็นว่า แม้แต่หนี้ที่ไม่สมบูรณ์เพราะสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถยังยอมให้ผูกพันผู้ค้ำประกันได้ เพียงแต่ผู้ค้ำประกันได้ทราบแล้วไฉนเรื่องอายุความซึ่งต้องยกขึ้นต่อสู้จึงไม่อาจตกลงไว้ต่อกันได้ก่อนว่าจะสละข้อต่อสู้นี้ กรณีไม่ใช่เป็นการขยายอายุความเพราะอายุความเรียกร้องจากกองมรดกมิได้เปลี่ยนแปลง กล่าวคือผู้ให้กู้คงเรียกร้องจากทายาทผู้ตายเมื่อเกิน 1 ปีแล้วไม่ได้อยู่นั่นเอง เหตุนี้ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ฯลฯ

พิพากษายืน

Share