คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มีข้อความระบุว่าจะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ การรู้ดังกล่าวนี้จะต้องรู้อยู่ขณะที่ทำนิติกรรมการโอน และฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าวนี้ ฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้รับฟังได้

ย่อยาว

คดีได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๔๙๔ จำเลยที่ ๑ ได้กู้เงินโจทก์ไป ๑๕,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๙๘ จำเลยที่ ๑, ที่ ๒ (สามีภรรยา) ได้โอนที่ดินในคดีนี้ให้แก่จำเลยที่ ๓, ๔ และ ๕ ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๐๑ โจทก์ฟ้องร้องเรียกเงินกู้จากจำเลยที่ ๑ ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๐๑ โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอน โดยอ้างว่าเพิ่งทราบการโอนเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๐๑ และจำเลยที่ ๑, ๒ รู้อยู่ว่าการโอนนั้นทำให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓, ๔, ๕ ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑, ๓, ๔, ๕ ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑, ๓, ๔, ๕ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ซึ่งบัญญัติให้เจ้าหนี้ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนได้นั้น มีข้อความระบุว่าจะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ การรู้ดังกล่าวนี้จะต้องรู้อยู่ขณะที่ทำนิติกรรมการโอน ฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าวนั้น ฝ่ายจำเลยให้การปฏิเสธ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบให้รับฟังได้ การนำสืบของโจทก์ไม่พอแสดงว่าจำเลยโอนที่พิพาทไปโดยรู้ว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงพิพากษายืน

Share