แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มี ธ.พ. และ ก. ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเดียวกับจำเลยเบิกความตรงกันว่า จำเลยได้รับกับพยานว่าได้เอาเงินของผู้เสียหายไปและได้ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อหน้าพยานทั้งสาม และมีครูโรงเรียนเดียวกับจำเลยรู้เห็นอยู่ด้วยว่าขณะเข้าไปดื่มน้ำในห้องที่เกิดเหตุ จำเลยได้หยิบเงินในกระเป๋าของผู้เสียหายไปและจากคำเบิกความของ อ.และส.ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเข้าไปดื่มน้ำในห้องที่เกิดเหตุตรงกับข้อเท็จจริงในบันทึกเอกสารหมาย จ.4และจำเลยนำเงินไปคืนไว้ที่โต๊ะ ส.เพื่อคืนให้ผู้เสียหายในลักษณะแอบแฝง พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบบ่งชี้ให้เห็นชัดปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักเอาเงินของผู้เสียหายไปจริง พยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนแต่ได้ความว่าจำเลยมีลักษณะบกพร่องทางจิตใจชอบอยากได้ของคนอื่นประกอบกับจำเลยได้นำเงินที่ยังไม่ได้คืนมาคืนให้ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว และผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป สมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป โดยรอการลงโทษจำเลยไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2525 มาตรา 11 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 2,100 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 2,100บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุนั้น เงินของผู้เสียหายที่ใส่ไว้ในโต๊ะทำงานจำนวน 10,100 บาท ถูกคนร้ายลักไป ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม 2530จำเลยได้นำเงินจำนวน 8,000 บาท ห่อกระดาษเขียนชื่อผู้เสียหายนำไปวางไว้ที่โต๊ะทำงานของนายสุพจน์ ส่งเสริม และผู้เสียหายได้รับเงินจำนวน 8,000 บาท คืนไป ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ลักเงินผู้เสียหายไปหรือไม่ และสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่… โจทก์มีนายธนูศักดิ์ วรรณคำผุย นางพิยะดา ศรีมานะศักดิ์ นางกุลวดีมนูญวงศ์ ซึ่งเป็นครูอยู่โรงเรียนเดียวกับจำเลยมาเบิกความได้ข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยได้รับกับพยานโจทก์ดังกล่าวว่าได้เอาเงินของผู้เสียหายไปเพราะเห็นแล้วอยากได้ นอกจากจำเลยจะรับกับพยานโจทก์แล้วยังได้ทำบันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า ขณะที่เข้าไปดื่มน้ำในห้องที่เกิดเหตุเห็นกระเป๋าของผู้เสียหายวางอยู่บนโต๊ะและสภาพของโต๊ะทำงานของผู้เสียหายถูกงัดออกแล้ว จำเลยได้หยิบเงินในกระเป๋าของผู้เสียหายไป พยานโจทก์ทั้งสามคนไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เป็นเพื่อนร่วมงานกันไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย ข้อที่จำเลยอ้างว่าถูกบังคับให้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.4 นั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะให้เชื่อได้เพราะในบันทึกนั้นนอกจากกระทำต่อหน้าพยานโจทก์ทั้งสามคนดังกล่าวแล้ว ยังมีครูในโรงเรียนที่เกิดเหตุรับรู้เห็นอยู่ด้วย จำเลยเองก็เป็นครูย่อมจะรู้ดีว่าถ้าทำบันทึกโดยไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงแล้วจะทำให้เกิดผลร้ายแก่ตัวจำเลยสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น จำเลยก็ไม่น่าที่จะลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกเอกสารหมาย จ.4 และก่อนเกิดเหตุที่เงินของผู้เสียหายจะหายไปก็ได้ความจากคำเบิกความของนางอุรวรา ลาภจิตร และนางสาวสุดไทย ไชยพันธ์ พยานโจทก์ว่า จำเลยเข้าไปดื่มน้ำในห้องที่เกิดเหตุตรงกับข้อเท็จจริงที่จำเลยได้ระบุไว้ในบันทึกเอกสารหมาย จ.4 และการที่จำเลยได้นำเงินจำนวน 8,000 บาท ไปไว้ที่โต๊ะของนายสุพจน์เพื่อคืนให้ผู้เสียหายภายหลังนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยได้เอาเงินของผู้เสียหายไปจริง ข้อที่จำเลยอ้างว่าเห็นเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ในโต๊ะของจำเลยโดยไม่ทราบว่าใครเอาไปนั้น ไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ เพราะถ้าเป็นอย่างเช่นจำเลยว่าจริง จำเลยก็น่าจะบอกกล่าวให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เสียในทันทีที่เห็นเงินอยู่ในโต๊ะของตน ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเอามาคืนในลักษณะแอบแฝงเช่นนั้น พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุนั้นเป็นการบ่งชี้ให้เห็นชัดปราศจากสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ลักเอาเงินของผู้เสียหายไปจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่ได้ความว่า จำเลยมีลักษณะอาการที่ชอบอยากได้ของคนอื่น อันเป็นลักษณะของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านจิตใจอย่างหนึ่งจึงมีเหตุอันควรปรานี ประกอบกับที่จำเลยได้นำเงินที่ยังไม่ได้คืนมาคืนให้ผู้เสียหายครบถ้วนแล้ว และผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองที่ดีต่อไป โดยรอการลงโทษจำเลยไว้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.