คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 30 (1) แล้วโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานได้ หนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตามการแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานและภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้รับคืนไปในคดีนี้จึงยังเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เพียงใด เมื่อหนี้ยังไม่แน่นอนจึงหาอาจถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้วได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนหรือชำระเงินภาษีอากรและชำระเงินดอกเบี้ยรวมจำนวน 1,313,849.13 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากจำนวนภาษีที่ต้องคืน 1,231,325.07 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบการค้าประเภทนำเข้าและจำหน่ายไม่แปรรูปและอื่นๆ โดยจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2537 จำเลยยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ โดยแสดงภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อแล้วมีภาษีชำระเกิน จำเลยได้ขอคืนภาษีที่ชำระเกินเป็นเงินสด ซึ่งเจ้าพนักงานของโจทก์พิจารณาแล้วอนุมัติให้คืนเงินภาษีแก่จำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 แล้วเห็นว่าจำเลยเสียภาษีอากรไว้ไม่ถูกต้องและได้รับภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากโจทก์เกินไปจำนวน 1,231,325.07 บาท โจทก์จึงได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวและประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติม กับมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยให้ส่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่รับเกินไปให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่คืนให้แก่โจทก์ และอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำลังพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาด โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้จำเลยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าที่จำเลยรับภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไปนั้น เป็นการรับภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นรายได้ของรัฐไปโดยไม่มีสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจติดตามเรียกคืนรายได้ของรัฐจากจำเลย เมื่อจำเลยไม่คืน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางบังคับให้จำเลยคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่รับเกินไปโดยไม่มีสิทธิแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ ด้วยการแสดงภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ เมื่อยอดภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายก็ขอรับภาษีในส่วนที่เกินคืนซึ่งเจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจแบบแสดงรายการดังกล่าวและคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้จำเลยไปแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ตรวจสอบการเสียภาษีอากรของจำเลยในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวแล้วเห็นว่าจำเลยแสดงภาษีขายไว้ไม่ถูกต้อง หรือต่ำกว่าความเป็นจริงและประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมกราคม 2537 ถึงเดือนธันวาคม 2537 เพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 31, 33, 35, 37, 39, 41, 43, 45, 47, 49, 51 และ 53 ปรากฏว่าจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประเมินเพิ่มเติมดังกล่าวเมื่อมาคำนวณหักกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่คืนให้แก่จำเลยไปแล้ว จำเลยต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่รับเกินจากผลของการประเมินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 81 โจทก์จึงมาฟ้องเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มที่เห็นว่าจำเลยรับคืนเกินไปตามการประเมินดังกล่าวเป็นคดีนี้ ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (1) แล้วโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานได้ หนี้ค่าภาษีมูลค้าเพิ่มตามการแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานและภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้รับคืนไปในคดีนี้จึงยังเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ เพียงใด เมื่อหนี้ยังไม่แน่นอนจึงหาอาจถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลภาษีอากรกลางและพิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นต่อไป”
พิพากษายืน

Share