คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7941/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายตบและชกต่อยจำเลยจนจำเลยล้มลง ผู้ตายกระชากคอเสื้อจำเลยทำให้อาวุธปืนของผู้ตายหล่นออกจากตัวผู้ตาย ผู้ตายและจำเลยแย่งอาวุธปืนกันระหว่างนั้นจำเลยยิงปืน 2 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตาย การที่ผู้ตายตบและชกต่อยจำเลยจนล้มลงนับได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายต่อจำเลยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันตนเองได้ ดังนั้นเมื่ออาวุธปืนของผู้ตายหล่นจากตัวผู้ตาย ในภาวะเช่นนั้นจำเลยย่อมไม่มีทางเลือกนอกจากจะแย่งอาวุธปืนดังกล่าว เพราะหากผู้ตายแย่งอาวุธปืนได้ ผู้ตายอาจใช้อาวุธปืนยิงจำเลยได้ แต่ขณะที่แย่งอาวุธปืนกันจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึง 2 นัด นับว่าเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69
จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปโดยมุ่งประสงค์จะนำไปทิ้งในแม่น้ำเพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธปืนของกลางได้ เช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง เพราะจำเลยมิได้เจตนาจะยึดถือไว้อย่างเป็นเจ้าของทั้งการที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางติดตัวไปทิ้งถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาพาอาวุธปืนของกลางไป จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน แม้ความผิดฐานพาอาวุธปืนจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคแรก), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา จำคุก 6 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา จำคุก 4 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 8 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
อุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 69 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายและจำเลยชกต่อยและแย่งอาวุธปืนในลักษณะประชิดตัวกัน จำเลยย่อมไม่มีโอกาสเลือกยิงผู้ตายและจำเลยมิได้ยิงผู้ตายซ้ำ เมื่อเกิดเหตุจำเลยได้วิ่งหลบหนีไปพร้อมอาวุธปืน พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนา และพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์กลับตั้งปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหรือจำเลยกับผู้ตายแย่งอาวุธปืนกันเป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นถูกผู้ตาย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 2 นัด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีปรากฏพยานหลักฐานของคู่ความในสำนวนแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลย โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายดนตรี ผู้ตายต่อว่าจำเลยส่งเสียงดัง จำเลยไสรถจักรยานยนต์ล้มไปถูกผู้ตาย ผู้ตายตบหน้าและชกต่อยจำเลย แล้วผู้ตายกับจำเลยแย่งอาวุธปืนกัน เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นขึ้น 2 นัด ถูกผู้ตายที่โหนกแก้มซ้ายและชายโครงด้านซ้าน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาหลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไปพร้อมอาวุธปืนโดยจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไม่เจตนา และพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุโจทก์มีนางศิริกานต์รู้เห็นเพียงผู้ตายและจำเลยแย่งสิ่งของกันโดยไม่รู้เห็นว่าสิ่งของที่แย่งกันเป็นอะไร คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าผู้ตายตบและชกต่อยจำเลยจนล้มลง จากนั้นผู้ตายกระชากคอเสื้อของจำเลยแล้วชักอาวุธปืนออกจากกระเป๋ากางเกง จำเลยกลัวจึงแย่งอาวุธปืนจากผู้ตาย แล้วอาวุธปืนลั่น 2 นัด จำเลยหลบหนีไป ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบดังกล่าวเมื่อพิเคราะห์ประกอบคำเบิกความของนายพิษณุ พยานโจทก์ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั่งดื่มสุรากับผู้ตายที่ว่าวันเกิดเหตุเห็นผู้ตายนำอาวุธปืนมาให้ดู และผู้ตายพกอาวุธปืนไว้ในกระเป๋ากางเกง เชื่อได้ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ตาย แต่อย่างไรก็ตามจำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า เมื่อผู้ตายก้มลงจับคอเสื้อของจำเลย อาวุธปืนหล่นจากตัวผู้ตาย จำเลยหยิบขึ้นมา ผู้ตายแย่งอาวุธปืนจากจำเลย จำเลยแย่งอาวุธปืนกันไปมา จำเลยจับด้ามอาวุธปืนปรากฏว่านิ้วชี้ของจำเลยเข้าไปในไกปืน เมื่อผู้ตายและจำเลยแย่งอาวุธปืนกันไปมากระสุนจึงลั่นขึ้น ๒ นัด ติดต่อกัน ผู้ตายล้มลง จำเลยหลบหนีไปขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลย จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความตอบคำถามค้านว่า ในการสอบปากคำจำเลยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนด้วย เชื่อว่าจำเลยให้การชั้นสอบสวนตามความป็นจริง คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจึงน่าจะเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของจำเลย ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนางศิริกานต์ว่า ระหว่างพาผู้ตายไปส่งโรงพยาบาล ผู้ตายพูดว่าจำเลยไม่น่าใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ผู้ตายไม่เอาเรื่องและหากรักษาบาดแผลหายแล้วจะมาทำความเข้าใจกับจำเลย แม้จะเป็นพยานบอกเล่า แต่นางศิริกานต์ได้รับการบอกกล่าวจากผู้ตายโดยตรงหลังเกิดเหตุ จึงรับฟังประกอบหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายตบและชกต่อยจำเลยจนจำเลยล้มลง ผู้ตายกระชากคอเสื้อจำเลยทำให้อาวุธปืนของผู้ตายหล่นออกจากตัวผู้ตาย ผู้ตายและจำเลยแย่งอาวุธปืนกัน ระหว่างนั้นจำเลยยิงอาวุธปืน ๒ นัด กระสุนปืนถูกผู้ตาย การที่ผู้ตายตบและชกต่อยจำเลยจนล้มลงนับได้ว่าการกระทำของผู้ตายเป็นภยันตรายต่อจำเลยซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันตนเองได้ ดังนั้น เมื่ออาวุธปืนของผู้ตายหล่นจากตัวผู้ตายในภาวะเช่นนั้นจำเลยย่อมไม่มีทางเลือกนอกจากจะแย่งอาวุธปืนดังกล่าว เพราะหากผู้ตายแย่งอาวุธปืนได้ผู้ตายอาจใช้อาวุธปืนยิงจำเลยได้ แต่ขณะที่แย่งอาวุธปืนกันจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึง 2 นัด นับว่าเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของผู้ตาย และได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้นำอาวุธปืนของกลางติดตัวไปเพราะเกรงว่าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและนำอาวุธปืนไปทิ้งในแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย เห็นว่า จำเลยนำอาวุธปืนของกลางไปโดยมุ่งประสงค์จะนำไปทิ้งในแม่น้ำเพื่อมิให้เจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธปืนของกลางได้ เช่นนี้กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองเพราะจำเลยมิได้เจตนาจะยึดถือไว้อย่างเป็นเจ้าของ ทั้งการที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางติดตัวไปทิ้งถือได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาพาอาวุธปืนของกลางไป จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน แม้ความผิดฐานพาอาวุธปืนจะยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ผู้ตายเพียงตบและชกต่อยจำเลย แต่จำเลยกลับยิงผู้ตายในระหว่างแย่งอาวุธปืนจากผู้ตายถึง 2 นัด พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย และเมื่อฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 ซึ่งศาลฎีกาจะต้องกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอลงโทษจำเลยในสถานเบาอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 69 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share