คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2541/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยฯ ไม่ขึ้นอยู่กับกระทรวงทบวงกรมใด รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับโดยทั่วไปหามีอำนาจร่วมจัดกิจกรรมและควบคุมดูแลโดยตรงไม่ แสดงอยู่ในตัวว่าเป็นการแยกกิจการการรถไฟฯ ออกจากรัฐบาลเป็นเอกเทศต่างหาก ทั้งการรถไฟฯยังจัดทำงบประมาณประจำปีของตนเอง ไม่รวมอยู่ในงบประมาณแผ่นดินอีกด้วยจำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟฯ ซึ่งผู้ว่าการรถไฟฯ มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนเลื่อนหรือลดขั้นเงินเดือนและรับรายได้เป็นเดือนจากงบประมาณของการรถไฟฯ ซึ่งมิใช่เงินจัดสรรงบประมาณเหมือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาล จำเลยจึงหาใช่ลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2)ไม่ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของจำเลยที่มีต่อการรถไฟฯผู้เป็นนายจ้าง จึงตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์600,000 บาท การที่ถูกอายัดยอดเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เพียงเดือนละ8,000 บาทเศษ จึงนับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวน 634,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้อายัดเงินสงเคราะห์ที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเลยได้พ้นจากการเป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 600,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่5 สิงหาคม 2540 และของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2540เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

ต่อมาปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเดือนละ 12,000 บาทเศษ และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้หักเงินบำนาญของจำเลยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เป็นเงิน 8,194.84 บาท และในเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 หักไว้เดือนละ 8,074.84 บาท ทุกเดือนเป็นต้นมา ส่งมาตามหมายอายัดของศาลชั้นต้น โดยจะจ่ายเงินแก่จำเลยเดือนละประมาณ 4,000 บาท

จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ขอให้เพิกถอนหมายอายัดเงินสงเคราะห์ประเภทบำนาญของจำเลยที่มีต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย อ้างว่าเงินบำนาญของจำเลยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะถือได้หรือไม่ว่าเป็นลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286 เป็นข้อยกเว้นความรับผิดแห่งการบังคับคดีจะต้องตีความโดยเคร่งครัดจำเลยในคดีนี้เป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ไม่ขึ้นอยู่ในกระทรวงทบวงกรมใดของรัฐบาล มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลโดยทั่วไป ผู้ว่าการมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นและลดขั้นเงินเดือนของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับโดยทั่วไปเท่านั้น หามีอำนาจร่วมจัดกิจการและควบคุมดูแลโดยตรงไม่ นอกจากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังจัดทำงบประมาณประจำปีของตนเอง ไม่รวมอยู่ในงบประมาณแผ่นดิน และยังมีกฎหมายแยกกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยออกเป็นนิติบุคคลต่างหาก ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าเป็นการแยกการรถไฟแห่งประเทศไทยออกจากรัฐบาลเป็นเอกเทศต่างหาก หากรัฐประสงค์จะคุ้มครองการรถไฟแห่งประเทศไทยและลูกจ้างเป็นกรณีพิเศษก็จะต้องบัญญัติกฎหมายไว้โดยชัดแจ้ง จำเลยเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนหรือลดขั้นเงินเดือน และรับรายได้เป็นเดือนจากงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย มิใช่จากเงินจัดสรรงบประมาณเหมือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาล จำเลยจึงหาใช่ลูกจ้างของรัฐบาลตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) ไม่ เมื่อจำเลยมิใช่ลูกจ้างของรัฐบาล ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของจำเลยที่มีอยู่ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้เป็นนายจ้างจึงตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(3) จำเลยเป็นหนี้โจทก์ถึง 600,000บาท เมื่อพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีมาพิจารณาประกอบกับฐานะทางครอบครัวของจำเลย การอายัดเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ในจำนวนดังกล่าวเพียงเดือนละ8,074.84 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share