คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งซึ่งผู้เช่าอาจโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ถ้าผู้ให้เช่ายินยอม เมื่อปรากฏว่าผู้ให้เช่ายินยอมให้โอนสิทธิการเช่าแก่ผู้คัดค้านตามคำร้องของลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนสิทธิการเช่าตึกแถวที่ลูกหนี้ผู้เช่าโอนให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกามีใจความว่า สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เจ้าของทรัพย์สินจะให้ใครเช่าหรือไม่ก็ได้ผู้เช่าไม่มีสิทธิที่จะโอนการเช่าให้ผู้อื่น แม้คำร้องของลูกหนี้ตามเอกสารหมายเลข 3ท้ายคำร้องจะระบุว่า ลูกหนี้ขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ก็มีความหมายเพียงว่า ลูกหนี้สละสิทธิที่จะใช้ทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สัญญาเช่าเดิมระงับไปแล้วไม่มีนิติกรรมให้เพิกถอนอีก สัญญาเช่าที่เกิดขึ้นใหม่เป็นเรื่องระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับผู้คัดค้านไม่เกี่ยวกับลูกหนี้แต่ประการใด

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งซึ่งผู้เช่าอาจโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ถ้าผู้ให้เช่ายินยอม หาใช่ว่าจะโอนกันไม่ได้เลยดังที่ผู้คัดค้านฎีกาไม่ เมื่อปรากฏว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผู้ให้เช่ายินยอมให้โอนสิทธิการเช่าแก่ผู้คัดค้านทั้งสองตามคำร้องของลูกหนี้ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114”

พิพากษายืน

Share