คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1562/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ซื้อขายรถยนต์ แม้ไม่โอนทะเบียนเป็นชื่อผู้ซื้อกรรมสิทธิ์ก็โอนไปเป็นของผู้ซื้อตาม มาตรา 458 ผู้ซื้อขายต่อไปโดยมีข้อสัญญาว่า ชำระราคาครบจึงจะโอนทะเบียนรถให้ และให้ถือการโอนชื่อในทะเบียนเป็นเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนี้ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามมาตรา459 กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะชำระราคาครบและโอนทะเบียนแล้ว

ย่อยาว

ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และริบรถยนต์ของกลาง รถคันนี้ผู้ร้องซื้อมายังไม่โอนทะเบียน และขายต่อไปยังจำเลยโดยมีเงื่อนไข ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอคืนรถยนต์ ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “พฤติการณ์ที่ผู้ร้องซื้อรถยนต์จากนายบุญสืบและได้รับมอบใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ แม้จะไม่ได้โอนชื่อเจ้าของรถในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อผู้ร้อง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ก็โอนไปยังผู้ร้องตั้งแต่เมื่อซื้อขายกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 ส่วนชื่อเจ้าของในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์นั้น พระราชบัญญัติรถยนต์ พุทธศักราช 2473 มาตรา 4(5) บัญญัติว่า “เจ้าของรถ” หมายความถึงผู้ถือกรรมสิทธิ์และให้รวมถึงผู้ครอบครองด้วยและมาตรา 27 บัญญัติว่า “ภาษีรถยนต์ตามความในพระราชบัญญัตินี้ท่านว่าผู้ครอบครองเป็นผู้เสีย ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าการจดทะเบียนมีชื่อเป็นเจ้าของในใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์นั้น เป็นกรณีที่เกี่ยวกับการเสียภาษีรถยนต์ ไม่ใช่เป็นการแสดงถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง หนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไขระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 11 มีข้อความว่า “เมื่อผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าจะซื้อถูกต้องครบถ้วนเต็มตามจำนวนในข้อ 1 แห่งสัญญานี้ ผู้ขายจะได้ทำการโอนทะเบียนมอบกรรมสิทธิ์รถยนต์คันที่จะซื้อให้แก่ผู้จะซื้อตามกฎหมาย ฯลฯ และให้ถือว่าการโอนชื่อในทะเบียนเป็นเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์” สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขบังคับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะยังไม่โอนไปยังจำเลยที่ 2 จนกว่าจะชำระเงินค่ารถยนต์ครบถ้วนและผู้ร้องโอนมอบกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ชำระเงินค่ารถยนต์แก่ผู้ร้องยังไม่ครบกรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่โอนไปยังจำเลยที่ 2 และยังเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36″

พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์แก่ผู้ร้อง

Share