คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2614/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย -จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ปิดกั้นแผงกั้นถนนเมื่อมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านตรงที่ทางรถไฟตัดผ่านถนน ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ละทิ้งหน้าที่ไป ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464 มาตรา 72 บัญญัติว่า เมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 3 ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟตัดผ่านถนน การที่จำเลยที่ 2 ไม่นำแผงมาปิดกั้นถนนขณะที่ขบวนรถไฟจะแล่นผ่านจึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ถือได้ว่าเป็นการประมาทอย่างร้ายแรง ถ้าหากปิดแผงกั้นถนนแล้ว รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่อาจขับผ่านเข้าไปถึงทางรถไฟจนเกิดเหตุชนกันได้ จำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าวันเกิดเหตุพนักงานรถไฟบางส่วนนัดหยุดงาน ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติงานให้ทันท่วงทีได้นั้น จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิด
โจทก์มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ต้องรักษาต่อที่บ้าน ค่าทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า และค่าที่ต้องทนทุกข์เวทนาที่ได้รับจากการละเมิดของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน โจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน ก.ท.อ-๔๙๙๔ ราคา ๑๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์ที่ ๑ ใช้ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๓ โจทก์ที่ ๑ ขับรถยนต์ดังกล่าวไปตามถนนคลองตัน – หัวหมาก ผ่านข้ามทางรถไฟซึ่งมิได้มีแผงกั้นปิดกั้นถนนอันแสดงว่าขบวนรถไฟแล่นผ่าน โดยจำเลยที่ ๒ ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ ๑ ขับรถไฟโดยประมาทผ่านมาด้วยความเร็วสูง ไม่หยุดขบวนรถเมื่อไม่ได้รับสัญญาณอนุญาตให้ผ่าน เป็นการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้รถไฟขบวนนั้นชนรถยนต์ของโจทก์ที่ ๒ เสียหายทั้งคันซ่อมไม่ได้ เป็นค่าเสียหาย ๑๗๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียค่ายา ค่ารักษา ๑๕,๐๐๐ บาท จะต้องเสียเงินทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ๑๐,๐๐๐ บาท และได้รับความทุกข์ทรมานจากบาดเจ็บ ๒๐,๐๐๐ บาท ค่ารถยนต์แท็กซี่ไปทำงาน ๑๐ เดือน เป็นเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ทำการดังกล่าวในทางการที่จ้างจำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ ๑ เป็นจำนวนเงิน ๙๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถด้วยความระมัดระวังมิได้ประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มิได้กระทำการโดยประมาท เหตุเกิดเพราะความประมาทของโจทก์ที่ ๑ เป็นเหตุให้รถยนต์นั้นชนกับขบวนรถไฟ ทำให้รถจักรดีเซลของจำเลยเสียหายคิดเป็นเงิน ๕๕๒ บาท ค่าเสียหายของโจทก์ตามฟ้องไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้องและให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหาย ๕๕๒ บาท แก่จำเลยที่ ๓ ฯลฯ
โจทก์ที่ ๑ ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ ๑ มิได้ประมาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ฯลฯ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต่างมีส่วนก่อให้เกิดความประมาทด้วยกัน แต่จำเลยที่ ๒ มีส่วนผิดมากกว่า ให้จำเลยที่ ๒ รับผิดสามในสี่ส่วน โจทก์ที่ ๑ รับผิดหนึ่งในสี่ส่วน ส่วนค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเหมาะสมแล้ว พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๗,๕๐๐ บาท แต่ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดเพียง ๗,๓๖๒ บาท (หักเงิน ๑๓๘ บาท อันเป็นส่วนที่โจทก์ที่ ๑ จะต้องชดใช้จำเลยที่ ๓ ออกแล้ว) และร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๑๒,๕๐๐ บาท ฯลฯ
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีทางรถไฟตัดผ่านถนนสายคลองตัน – หัวหมาก บริเวณที่ตัดกันนี้มีแผงกั้นถนน ของรถไฟ โดยมีจำเลยที่ ๒ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปิดกั้นเมื่อมีขบวนรถไฟแล่นผ่าน ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๒ ละทิ้งหน้าที่ไป เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ มาตรา ๗๒ บังคับไว้ว่า ทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ ๓ ต้องป้องกันภัยในการที่จะเดินรถไฟตัดผ่านถนนการที่จำเลยที่ ๒ ไม่นำแผงมาปิดกั้นถนนขณะที่ขบวนรถไฟจะแล่นผ่านจึงเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย ถือได้ว่าเป็นการประมาทอย่างร้ายแรง ถ้าหากจำเลยที่ ๒ หรือพนักงานของจำเลยที่ ๓ ปิดแผงกั้นถนนตามหน้าที่แล้ว รถยนต์โจทก์ที่ ๑ ขับก็ไม่อาจผ่านเข้าไปถึงทางรถไฟจนเกิดเหตุนี้ได้ การที่พนักงานของจำเลยที่ ๓ ไม่ปิดกั้นเช่นนี้ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์เข้าใจว่าไม่มีขบวนรถไฟแล่นผ่าน กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ ๒ มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ ๑ ที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าในวันเกิดเหตุพนักงานรถไฟบางส่วนนัดหยุดงาน ไม่สามารถหาคนมาปฏิบัติงานให้ทันท่วงทีนั้น จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่จำเลยที่ ๓ อ้างไม่ได้ จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิด และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ต้องรักษาต่อที่บ้าน ค่าทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าและค่าที่ต้องทนทุกข์เวทนาที่ได้รับจากการละเมิดของจำเลยได้ ฯลฯ
พิพากษายืน .

Share