แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ในสัญญาจำนองที่ดินจะระบุข้อความว่า จำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยผู้จำนองมีต่อธนาคารโจทก์ผู้รับจำนองในเวลานี้หรือที่จะมีขึ้นใหม่ในภายหน้าก็ตามแต่เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานที่มีการจำนองเป็นประกันได้ระงับสิ้นไปโดยจำเลยชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) ทั้งในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีโจทก์และจำเลยก็มิได้ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวว่ามีการจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี การตีความถึงเจตนาของคู่สัญญาในกรณีมีข้อสงสัยเช่นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความในทางที่เป็นคุณแก่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น กรณีต้องฟังว่าโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงให้นำสัญญาจำนองที่ดินมาเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนองที่ดินเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ที่สาขาสระบุรี บัญชีเลขที่ 270-303600-0 และจำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ในวงเงินเกินบัญชีจำนวน 150,000 บาท มีกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์อัตราร้อยละ 10 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 5 ของเดือน หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับเงินเบิกเกินบัญชี ซึ่งจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันสำหรับเดือนต่อไป และเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์ในขณะทำสัญญาหรือจะมีต่อไปในภายหน้า จำเลยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยตกลงไว้ด้วยว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้ได้จนครบ หลังจากจำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยใช้เช็คและหลักฐานอื่นเบิกเงินเกินบัญชีเรื่อยมา เมื่อสัญญาครบกำหนดจำเลยก็ยังเดินสะพัดทางบัญชี ต่อมาจำเลยมิได้นำเงินฝากหรือถอนเงินในบัญชีอีก โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวน 1,547,111.17 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,055,665.68 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 1,547,111.17 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ผู้ร้องสอดที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 และบ้านเลขที่ 66/22 ร่วมกับจำเลย เนื่องจากผู้ร้องสอดที่ 2 และจำเลยได้เข้าหุ้นซื้อที่ดินดังกล่าวและต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2519 ผู้ร้องสอดที่ 2 กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529 จำเลยโดยความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 2 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 400,000 บาท เพื่อสร้างบ้านเลขที่ 66/22 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเพื่อประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ผู้ร้องสอดที่ 2 และจำเลยได้ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว สัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวจึงระงับสิ้นไป ต่อมาผู้ร้องสอดที่ 2 และจำเลยได้จดทะเบียนหย่า จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 150,000บาท กับโจทก์ตามฟ้อง หลังจากที่ผู้ร้องสอดที่ 2 และจำเลยได้หย่ากันแล้ว หนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลย ผู้ร้องสอดที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ให้ความยินยอมให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์จำนองประกันหนี้ส่วนตัวของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าการจำนองระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 และบ้านเลขที่ 66/22และขอให้พิพากษาว่าสัญญาจำนองเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดที่ 2 เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2 ว่า จำเลยได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 2 จำเลยจึงมีสิทธินำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอดที่ 2 ก่อน ขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำเลยยังผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบ การจำนองที่ดินยังไม่ระงับไปและเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,547,111.17 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 30 พฤษภาคม 2537) ต้องไม่เกิน508,554.51 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 เฉพาะส่วนของจำเลยเนื้อที่ 42 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ ให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 2
ผู้ร้องสอดที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 2 จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2519 ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2529 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 ตำบลบางเขน (ลาดโตนด) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เฉพาะส่วนของจำเลยพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อประกันหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2529 จำนวน 400,000 บาท ตามสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเอกสารหมาย จ.5 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 2 ได้จดทะเบียนหย่ากันและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2815/2537 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของจำเลยกับผู้ร้องสอดที่ 2 วันที่ 30 พฤษภาคม 2532 จำเลยชำระหนี้กู้ยืมเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2533 จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 5 ของเดือน กำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 2 ประการแรกที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหนี้ของจำเลยเพียงผู้เดียว หาใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่ เมื่อโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องสอดที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า สัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเป็นประกันหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วยหรือไม่ เห็นว่า แม้ในสัญญาจำนองดังกล่าวจะระบุข้อความไว้ว่า จำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งผู้จำนองมีต่อโจทก์ผู้รับจำนองในเวลานี้หรือที่จะมีขึ้นใหม่ในภายหน้าก็ตามแต่เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานที่มีการจำนองเป็นประกันได้ระงับสิ้นไปโดยจำเลยชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2532 สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744(1) ทั้งในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533 ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จำเลยก็ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวว่ามีการจำนองที่ดินแปลงนี้เป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชี การตีความถึงเจตนาของคู่สัญญาในกรณีที่มีข้อสงสัยเช่นนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่าย ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ดังนั้น จึงต้องฟังว่าโจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงกันให้นำสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนมาเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีรายนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 23511 ตามสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2529 ระงับสิ้นแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับจำนองชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2