คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมีหน้าที่ทำงานในวันทำงานและเวลาทำงานปกติตามที่จำเลยมอบหมาย แม้โจทก์จะยื่นใบลาต่อจำเลยขออนุญาตหยุดงานในวันที่ 9 ถึง11 ตุลาคม 2543 แต่เมื่อจำเลยไม่อนุญาตโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาทำงานในวันและเวลาทำงานดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มาทำงาน แต่กลับเดินทางไปประเทศกัมพูชา เพื่อหาช่องทางทำธุรกิจซึ่งเป็นเหตุส่วนตัวของโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(5) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2538 ตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ได้ค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 37,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และระหว่างวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 จำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 444,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 60,433.33 บาท ค่าเสียหายจำนวน 444,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จค่าจ้างค้างจำนวน 3,699.99 บาท และค่าชดเชยจำนวน 222,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ

จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2543 โจทก์ยื่นหนังสือขอลาพักร้อนตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 14 ตุลาคม 2543 ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ลูกจ้างจะหยุดงานได้เมื่อผู้บังคับบัญชาอนุญาต เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าว จำเลยมีงานเร่งด่วนจึงไม่อนุญาตให้โจทก์หยุดงาน แต่ให้หยุดหลังจากนั้นซึ่งโจทก์รับทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 โจทก์ขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้จำเลยทราบเป็นการละทิ้งหน้าที่จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้าง โจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหาย ส่วนค่าจ้างระหว่างวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2538 ตำแหน่งผู้จัดการโครงการ มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบงานด้านก่อสร้างให้จำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 37,000 บาท โจทก์ขาดงานตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 โดยเดินทางไปประเทศกัมพูชาจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ กรณีมีเหตุสมควรให้เลิกจ้างโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างระหว่างวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 แต่การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เดินทางไปประเทศกัมพูชาเนื่องจากงานของโจทก์ใกล้จะหมดแล้ว และโจทก์เตรียมตัวจะออกจากงานจึงมีความจำเป็นเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจและไม่อาจเลื่อนการเดินทางได้แม้จำเลยจะไม่อนุญาตให้โจทก์ลาแต่ก็ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยมีเหตุอันสมควรโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 222,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจของโจทก์เอง เนื่องจากโจทก์เตรียมตัวจะออกจากงาน ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยมีเหตุสมควรหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่จำเลยในวันทำงานและเวลาทำงานปกติตามที่จำเลยมอบหมาย แม้โจทก์จะยื่นใบลาต่อจำเลยขออนุญาตหยุดงานในวันที่ 9 ถึง 11 ตุลาคม 2543 แต่เมื่อจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องมาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่มาทำงานให้แก่จำเลยในวันและเวลาทำงานดังกล่าวแต่กลับเดินทางไปประเทศกัมพูชา เพื่อหาช่องทางทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเหตุส่วนตัวของโจทก์ จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(5)จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในส่วนค่าชดเชยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share