คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3175/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวความให้ผู้ต้องขังชาย บ. ทำฟ้องอุทธรณ์แทนให้โดยผู้ต้องขังชาย บ. ลงลายมือชื่อไว้ทั้งในช่องผู้เรียงและในช่องผู้เขียนหรือผู้พิมพ์เป็นการเห็นได้อยู่ในตัวว่าผู้ต้องขังชาย บ. เป็นผู้แต่ง เพราะคำว่า “แต่ง” กับ “เรียง”นั้น ตามพจนานุกรมมีความหมายเหมือนกัน ทั้งพระราชบัญญัติทนายความฯ มาตรา 33ก็ระบุชัดเจนห้ามมิให้ผู้ซึ่งมิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความ หรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งฟ้อง… ฟ้องอุทธรณ์… ให้แก่บุคคลอื่น ดังนั้น ฟ้องอุทธรณ์ที่ผู้ต้องขังชาย บ. เป็นผู้แต่งให้จำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแม้จำเลยที่ 2 จะได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์และยืนยันการลงลายมือชื่อดังกล่าว ก็ไม่ทำให้ฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบกลายเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาได้เจตนาในใจของจำเลยที่ 2 ประสงค์อย่างไรมิใช่ข้อสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ต่อศาลก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 11 เม็ด น้ำหนัก 1.02 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฏชัด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังกล่าวให้แก่สายลับเป็นเงิน 180 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 เสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว ซึ่งหมดไปในการตรวจพิสูจน์ และเงินจำนวน 180 บาท ของเจ้าพนักงานที่ใช้ล่อซื้อเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 57, 66, 67, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 คืนเงินของกลางที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 180 บาทแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุกคนละ 5 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี กับให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน คืนเงินของกลางที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 180 บาทแก่เจ้าของ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อเดียวว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้คดีนี้จะมีผู้ต้องขังชายบุญรอด ขันทะกันชัย ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนในท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ตาม แต่ที่จำเลยที่ 2 ให้ผู้ต้องขังชายบุญรอดเป็นผู้เขียนอุทธรณ์ให้ก็เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้รับการศึกษาน้อย เขียนได้เฉพาะชื่อและนามสกุลของตนเอง ไม่สามารถเขียนหรืออ่านข้อความใด ๆ ได้ และไม่ทราบว่าผู้ต้องขังชายบุญรอดได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนในท้ายอุทธรณ์ดังกล่าวด้วยแต่จำเลยที่ 2 ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในช่องผู้อุทธรณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นตั้งแต่แรกนั้น เห็นว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวความจะทำฟ้องอุทธรณ์ด้วยตนเอง นำมายื่นต่อศาลย่อมทำได้ไม่มีอะไรห้าม แต่การที่จำเลยที่ 2 ให้ผู้ต้องขังชายบุญรอดซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำทำแทนให้ โดยผู้ต้องขังชายบุญรอดลงลายมือชื่อไว้ทั้งในช่องผู้เรียงและในช่องผู้เขียนหรือผู้พิมพ์เป็นการให้เห็นได้อยู่ในตัวตามถ้อยคำว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีผู้ต้องขังชายบุญรอดเป็นผู้แต่ง เพราะคำว่า “แต่ง” กับ “เรียง” นั้น ตามพจนานุกรมมีความหมายเหมือนกัน เมื่อในปัจจุบันมีกฎหมายคือ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า”ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตหรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง… ฟ้องอุทธรณ์… ให้แก่บุคคลอื่น… ฯลฯ” ฟ้องอุทธรณ์ที่ผู้ต้องขังชายบุญรอดเป็นผู้แต่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเรียงให้แล้วยังเขียนให้ด้วยดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทำขึ้นโดยผู้ซึ่งมิได้เป็นทนายความอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 จะได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้อุทธรณ์และยืนยันการลงลายมือชื่อดังกล่าว ก็ไม่ทำให้ฟ้องอุทธรณ์ฉบับนี้กลายเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาได้ เจตนาในใจของจำเลยที่ 2 ประสงค์อย่างไรมิใช่ข้อสำคัญ เมื่อจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ต่อศาลก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share