คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับจำเลยได้โดย ไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66 (2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ ทำให้การจับจำเลยเสียไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การใช้ลูกระเบิดในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเป็นลักษณะที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธร้ายแรงมีอำนาจแห่งการทำลายกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 289 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 84, 91, 288, 289 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 38, 55, 72, 74, 78 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาภริยาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานใช้จ้างวานฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่อาวุธปืนของกลางไม่มีทะเบียนเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดจึงให้ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) (5), 289 (5) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้วางโทษประหารชีวิต ฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 15 ปี และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 10 ปี และฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานอื่นมารวมอีกได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) คงให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด และจับจำเลยขณะออกมาจากที่ตั้งหน่วยทหารนำตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจโดยมิได้ติดต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยให้ส่งตัวจำเลยให้ตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหม เป็นการจับจำเลยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของ ม. และ พ. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าเหตุที่รู้ตัวคนร้ายเพราะ พ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุรินทร์สังเกตเห็นว่าหลังจากเกิดเหตุจำเลยซึ่งเป็นเพื่อนกันมีเงินใช้จ่ายฟุ่มเฟือยผิดปกติ ต่อมา ม. ได้รับรายงานว่าจำเลยได้เงินมาจากการรับจ้างฆ่าผู้ตาย ประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เมื่อมีเหตุสมควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดคดีนี้จึงมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66 (2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ทำให้การจับจำเลยเสียไปคดีฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พยานแวดล้อมต่างๆ ฟังประกอบกันโดยตลอดแล้ว มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีลูกระเบิดจำนวน 1 ลูก ซึ่งเป็นเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครอง กับใช้ลูกระเบิดดังกล่าวฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่การกระทำของจำเลยเป็นลักษณะที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธที่ร้ายแรงมีอำนาจแห่งการทำลายโดยกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (5) ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 288 ประกอบด้วย มาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนนอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานใช้เครื่องกระสุนปืนฯ ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยกระทำทารุณโหดร้ายให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share