คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 114/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง สรุปผลว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยแจ้งให้เลขาธิการโจทก์ทราบเมื่อวันที่27 กันยายน 2537 จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงผู้ที่ต้องรับผิดในทางแพ่งว่าเป็นจำเลยตั้งแต่ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่โจทก์มีบันทึกถึงผู้ทรงคุณวุฒิแม้ต่อมาเลขาธิการโจทก์จะเสนอขอความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิก็ตามแต่ผลการพิจารณาก็มิได้เปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดทางแพ่งแต่อย่างใดและแม้เลขาธิการโจทก์จะลงนามเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538 ก็ไม่ทำให้การรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์อันเป็นการเริ่มนับอายุความเปลี่ยนแปลงไป เพราะมิฉะนั้นแล้วอายุความก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆแล้วแต่ความล่าช้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 15 มีนาคม 2539พ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ป-0514 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ไปตามถนนสายพิจิตร-สามง่าม ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-4107 พิจิตร ซึ่งนายสุนทร บุตรดี ขับแล่นสวนทางมาในทางเดินรถของนายสุนทร ทำให้รถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหาย 140,000บาท ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งในกรณีดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538 คณะกรรมการสอบสวนแจ้งให้โจทก์รู้ถึงการละเมิดและจำเลยเป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมชำระโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย19,389.04 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 159,389.04 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายสุนทรเพียงฝ่ายเดียวซึ่งขับรถมาด้วยความเร็วสูง โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิด คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 90,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2537 จำเลยขับรถยนต์ของโจทก์ไปราชการในเขตอำเภอสามง่ามจังหวัดพิจิตร ระหว่างเดินทางได้เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกซึ่งมีนายสุนทรบุตรดี เป็นผู้ขับ ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาโจทก์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว มีความเห็นว่าจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติว่า เลขาธิการของโจทก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งในกรณีนี้แล้ว คณะกรรมการสอบสวนสรุปผลการสอบสวนว่าจำเลยเป็นผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งให้แก่โจทก์และแจ้งให้เลขาธิการของโจทก์ทราบตามบันทึกปกปิดที่ มท 1429/52 ลงวันที่ 27กันยายน 2537 แต่กองนิติการของโจทก์พิจารณาแล้วไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวน โดยเห็นว่าจำเลยไม่ต้องรับผิด แล้วสำนักงานเลขานุการกรมของโจทก์ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เห็นว่า ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนถูกต้องต่อมาเลขาธิการของโจทก์ได้มีบันทึกปกปิดที่ มท 1429/2970 ลงวันที่ 29ธันวาคม 2537 ขอความเห็นต่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านให้คำปรึกษากฎหมายกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความเห็นว่าบุคคลใดต้องรับผิดทางแพ่ง ต่อมาผู้ทรงคุณวุฒิด้านให้คำปรึกษากฎหมาย กระทรวงมหาดไทย มีความเห็นว่าความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนถูกต้องแล้ว คือจำเลยต้องเป็นผู้รับผิดเช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงผู้ที่ต้องรับผิดในทางแพ่งว่าเป็นจำเลยตั้งแต่ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่โจทก์มีบันทึกถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านให้คำปรึกษากฎหมายกระทรวงมหาดไทย คือวันที่ 29 ธันวาคม 2537 แล้ว แม้ต่อมาเลขาธิการของโจทก์จะเสนอขอความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านให้คำปรึกษากฎหมาย กระทรวงมหาดไทยก็ตาม แต่ผลการพิจารณาก็มิได้เปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด และแม้เลขาธิการของโจทก์จะลงนามเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ อันเป็นการเริ่มนับอายุความเปลี่ยนแปลงไป เพราะมิฉะนั้นแล้วอายุความก็จะขยายออกไปได้เรื่อย ๆ แล้วแต่ความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2539 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share