แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้
สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 9 ระบุว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมด กับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แม้เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9 อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหากเป็นเงินครั้งละ 10,000บาท ก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อน จึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 147,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 87,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 มกราคม 2540)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน82,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า เงินจำนวน 5,000 บาทเป็นเงินมัดจำ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า เงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายจำนวน 55,000 บาทและเงินดาวน์ที่ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวด จำนวน 87,000 บาท เป็นเงินมัดจำหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาทในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2536 ก็ตามแต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้นอกจากนี้ตามข้อ 9ของสัญญาดังกล่าวระบุไว้ว่า หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินชำระไว้แล้วทั้งหมดกับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวและโจทก์ยินยอมให้จำเลยนำทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันนี้ไปขายให้แก่บุคคลอื่นได้ด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินโจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิม ข้อตกลงให้ริบเงินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ โจทก์ผิดสัญญาหลังจากชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วถึง 147,000 บาท การที่จำเลยจะริบเงินจำนวนนี้ทั้งหมดทั้งที่จำเลยเพิ่งสร้างทาวน์เฮ้าส์ที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมจะโอนได้เมื่อเดือนกันยายน 2539 ที่เลิกสัญญานั้นเอง และประมาณต้นปี2540 จำเลยก็โอนกรรมสิทธิ์ขายให้บุคคลอื่นไปได้ เห็นว่า การกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับจำนวน 147,000 บาท นั้น มากเกินสมควรไป เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 60,000 บาท เท่ากับที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9ในเรื่องเดียวกันนี้อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหาก เป็นเงินครั้งละ 10,000 บาทก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อนจึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน