คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถแซงรถเครนเข้าไปในทางเดินรถสวนทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่ามีรถจักรยานยนต์และรถยนต์บรรทุกกำลังจะแล่นสวนทางโดยจำเลยควรใช้ความระมัดระวังขับรถตามรถเครนไปจนกระทั่งรถที่แล่นสวนทางผ่านพ้นไปก่อน จึงขับรถแซงรถเครนขึ้นไปแต่กลับมิได้กระทำเช่นนั้น จึงขับชนกับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทซึ่งเพียงพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยขับรถแซงรถเครนเข้าไปในทางเดินรถสวนทางโดยไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆนั้น แม้จะไม่บรรยายว่าสัญญาณใด ๆ นั้นคืออะไรก็หาทำให้ฟ้องเคลือบคลุมไม่และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า ด้วยความประมาทนั้น ทำให้รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเสียหายโจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสจึงไม่จำเป็นต้องระบุข้อความว่าอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินไว้ด้วยอีก ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 เวลากลางวัน จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-8764 นครสวรรค์ ไปตามถนนสายอุตรดิตถ์-เขื่อนสิริกิติ์ มุ่งหน้าไปทางเขื่อนสิริกิติ์ ขณะอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 1 กับที่ 2 ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จำเลยเห็นอยู่แล้วว่าข้างหน้ามีรถเครนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำลังแล่นไปทิศทางเดียวกัน และในทางเดินรถสวนมีรถจักรยานยนต์และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-5630 แพร่ กำลังจะแล่นสวนทางกับรถเครน จำเลยกลับเร่งความเร็วรถแซงรถเครนเข้าไปในทางเดินรถสวนโดยไม่ให้สัญญาณใด ๆ แทนที่จะรอให้รถจักรยานยนต์และรถยนต์บรรทุกดังกล่าวแล่นสวนทางผ่านพ้นไปก่อนด้วยความประมาทของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับชนกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งสองคัน นายสัมฤทธิ์คำมา ผู้ขับและนายมนตรี วิเศษ ผู้โดยสารรถยนต์บรรทุกดังกล่าว นายชัยชาญ บุญก่อแก้ว และนายสมพร นุชนาถ ผู้โดยสารรถจำเลยได้รับอันตรายสาหัสป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายสัมฤทธิ์ คำมา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 โดยไม่ได้บรรยายถ้อยคำอันเป็นองค์ประกอบความผิดลงในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถแซงรถเครนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปในทางเดินรถสวนโดยที่เห็นอยู่แล้วว่าในช่องทางดังกล่าวมีรถจักรยานยนต์และรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน80-5630 แพร่ กำลังจะแล่นสวนทางกับรถเครนดังกล่าวโดยที่จำเลยควรใช้ความระมัดระวังขับรถตามรถเครนไปจนกระทั่งรถจักรยานยนต์และรถยนต์บรรทุกที่แล่นสวนทางผ่านพ้นไปก่อน เมื่อถนนช่องเดินรถนั้นว่างปลอดภัยแล้ว จึงขับรถแซงรถเครนขึ้นไป แต่จำเลยกลับมิได้กระทำเช่นนั้น จึงทำให้รถคันที่จำเลยขับชนกับรถยนต์บรรทุกนั้นด้วยความประมาท ซึ่งเพียงพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยกลับเร่งความเร็วรถแซงรถเครนเข้าไปในทางเดินรถสวนทางโดยไม่ได้ให้สัญญาณใด ๆ นั้น เป็นการขยายความให้เห็นชัดเจนถึงพฤติการณ์การกระทำโดยประมาทของจำเลย แม้โจทก์จะไม่บรรยายว่า สัญญาณใด ๆ นั้น คืออะไรก็หาทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกาไม่ และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยขับรถโดยประมาทดังกล่าวและบรรยายฟ้องด้วยว่า ด้วยความประมาทนั้น เป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนกับรถยนต์บรรทุกของโจทก์ร่วมทำให้รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันเสียหายโจทก์ร่วม นายมนตรี นายชัยชาญและนายสมพรได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องโดยระบุข้อความว่าอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินไว้ด้วยอีก คำบรรยายฟ้องของโจทก์ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4), 157 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งโจทก์ร่วมมีส่วนประมาทด้วยเช่นกัน จึงมิใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดตามความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ปัญหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่โดยเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน และกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามมาตรา 29, 30 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share