คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า “บุคคล” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 หมายความรวมถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534เป็นเงินทั้งสิ้น 4,420,698 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับคำอุทธรณ์เพราะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายกับแจ้งเตือนให้ชำระภาษีอากร โจทก์เห็นว่า การประเมินและเรียกให้โจทก์ชำระภาษีนั้นเป็นการไม่ชอบ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา การมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฉบับที่ กค.0842 (สก.1)/09476 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2543 กับให้จำเลยรับคำอุทธรณ์ของโจทก์

จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยได้ส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่โจทก์ด้วยตนเอง ณ สำนักงานใหญ่ของโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 โดยมีนายทนง วงศ์จงใจหาญผู้รับมอบอำนาจของโจทก์เป็นผู้รับหนังสือไว้ โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 เกินกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันในวันชี้สองสถานของศาลภาษีอากรกลางว่า โจทก์มีภูมิลำเนาสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 33 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร กับมีสำนักงานสาขาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์เพิ่งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงย้ายสำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2539ไปอยู่ที่เลขที่ 299 หมู่ที่ 1 ซอยฟอกหนัง ถนนสุขุมวิท ตำบลท้ายบ้านอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์มอบอำนาจให้นายทนง วงศ์จงใจหาญ ไปพบเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยตามหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 7 ธันวาคม 2536 นายทนงได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้จากเจ้าพนักงานสรรพากรของจำเลยในวันที่ 1 กันยายน 2538 เพื่อจะได้แจ้งให้โจทก์รับทราบและจะได้ชำระภาษีอากรให้ครบถ้วนนอกจากนี้โจทก์ยังได้มอบอำนาจให้นายทนงทำการอุทธรณ์การประเมินภาษีด้วยตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 13 ตุลาคม2538 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 6 หรือตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ระบุว่า วันที่ 1 กันยายน 2538 เวลา 11 นาฬิกานางสาวณัฐชรี รุจิเรข เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 5 ได้นำหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลลงวันที่ 24 สิงหาคม 2538 ไปที่บริษัทโจทก์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 33 ถนนท่าเรือ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร และได้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวให้แก่นายทนงวงศ์จงใจหาญ ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับไว้ด้วย การที่นางสาวณัฐชรีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยเดินทางไปยังสำนักงานของโจทก์เลขที่ 33 ถนนท่าเรือ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานครอันเป็นภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ของโจทก์ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้เพื่อนำส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้และนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่จำเลยด้วยตนเองเช่นนี้ เมื่อนายทนงขณะนั้นอยู่ที่สำนักงานของโจทก์ยินยอมรับหนังสือแจ้งการประเมินและลงลายมือชื่อเป็นผู้รับไว้ด้วย ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะฟังได้ว่ามีการส่งหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 8 แห่ง ประมวลรัษฎากรโดยชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการส่งหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 8 นี้ หมายถึงแจ้งให้เฉพาะบุคคลเสียภาษีเท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงนิติบุคคลด้วยนั้น เห็นว่า คำว่า “บุคคล” นั่นย่อมหมายความรวมถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลด้วย ดังนั้น เมื่อนายทนงผู้รับมอบอำนาจของโจทก์รับหนังสือแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานสรรพากรของจำเลยแล้ว ก็ต้องถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินให้ไปเสียภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 แล้ว หากโจทก์เห็นว่าหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวไม่ถูกต้องและต้องการยื่นอุทธรณ์ ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เพิ่งยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จึงเกินกำหนดเวลา 30 วันแล้ว ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับคำอุทธรณ์ของโจทก์และศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share