คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานมิได้นำเหตุผลที่โจทก์ทั้งสิบสองกล่าวอ้างมาพิจารณา แต่นำคำเบิกความของพยานที่ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างมาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดี หากศาลแรงงานนำคำพยานจำเลยมาพิจารณาจะเห็นได้ว่า เป็นเพียงคำชี้แจงถึงผลที่จะตามมาถ้าโจทก์ทั้งสิบสองไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มิใช่เป็นคำสั่งเลิกจ้าง และมิใช่คำสั่งเด็ดขาดว่าหากโจทก์ทั้งสิบสองไม่ปฏิบัติให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง อีกทั้งไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่เป็นช่าง 8 คน ด้วยในวันเดียวพร้อม ๆ กัน และโจทก์ทั้งสิบสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจำเลยและได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏชัดว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 มิได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะโจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 7 และโจทก์ที่ 9 ถึงโจทก์ที่ 12 ถูกจำเลยเลิกจ้าง มิได้เป็นผู้ได้ยินหรือ ทราบข้อความโดยตรงในเหตุการณ์ดังกล่าว คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 จึงเป็นพยานบอกเล่า ศาลมิอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ดี และโจทก์ทั้งสิบสองมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลย เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนมิอาจรับฟังน้ำหนักให้พอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่คดีนี้ศาลแรงงาน ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องอ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,500 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 40,500 บาท ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้าย เดือนละ 12,150 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 72,900 บาท ซึ่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏ เหตุที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 36,450 บาท แม้จำเลย อุทธรณ์ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 40,500 บาท ตามฟ้อง ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยตามกฎหมายเพียงจำนวนดังกล่าว ศาลก็ต้องพิพากษาให้ตามที่โจทก์มีสิทธิ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองจำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 12

โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสองเป็นลูกจ้างของจำเลยวันเข้าทำงาน อัตราค่าจ้าง ตำแหน่งหน้าที่ ตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน โดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,500 บาท จำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 5 และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสองโดยโจทก์ทั้งสิบสองไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งสิบสองระหว่างวันที่ 1 ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2541 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 40,500 บาท 55,500 บาท 26,700 บาท 59,700 บาท 60,000 บาท 22,500 บาท 26,400 บาท 22,500 บาท 72,000 บาท 60,000 บาท และ 60,900 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,350 บาท 7,091 บาท 6,823 บาท 7,628 บาท 7,666.66 บาท 7,666 บาท 5,750 บาท 6,746 บาท 5,750 บาท 9,200 บาท 7,667 บาท และ 7,781 บาท ค่าจ้างค้างจำนวน 2,250 บาท 1,541 บาท 1,483 บาท 1,658 บาท 1,666.66 บาท 1,666 บาท 1,250 บาท 1,466 บาท 1,250 บาท 2,000 บาท 1,667 บาท และ 1,691 บาท แก่โจทก์ทั้งสิบสองตามลำดับ และออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์ทั้งสิบสอง

จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งสิบสองแถลงว่าได้รับใบสำคัญแสดงการทำงาน และโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 12 ได้รับค่าจ้างค้างตามฟ้องจากจำเลยแล้ว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 72,900 บาท 55,500 บาท 26,700 บาท 59,700 บาท 60,000 บาท 60,000 บาท 22,500 บาท 26,400 บาท 22,500 บาท 72,000 บาท 60,000 บาท และ 60,900 บาท แก่โจทก์ทั้งสิบสองตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางมิได้นำเหตุผลที่โจทก์ทั้งสิบสองกล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างมาพิจารณา แต่นำคำเบิกความของพยานที่ไม่เกี่ยวกับการเลิกจ้างในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 มาเป็นเหตุผลในการตัดสินคดี เมื่อนำคำพูดนายอนุรักษ์มาพิจารณาจะเห็นได้ว่า เป็นเพียงคำชี้แจงถึงผลที่จะตามมาถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งเลิกจ้าง คำพูดดังกล่าวเป็นการพูดขณะที่มีอารมณ์โกรธ มิใช่คำสั่งเด็ดขาดว่าหากไม่พิมพ์ลายนิ้วมือให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง อีกทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยมีรถเข้ารอซ่อมอยู่ 30 ถึง 40 คัน ถ้าจำเลยไล่โจทก์ทั้งสิบสองซึ่งเป็นช่างเสีย 8 คน ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ที่เป็นช่าง 8 คน ด้วยในวันเดียวพร้อม ๆ กัน และโจทก์ทั้งสิบสองไม่อาจนำสืบให้ปรากฏชัดว่าจำเลยเลิกจ้างในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า โจทก์ทั้งสิบสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจำเลยและได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า โจทก์ทั้งสิบสองเกรงว่าจำเลยจะเลิกจ้างหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงได้โทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่กรณีไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสิบสองจะละทิ้งหน้าที่โดยจำเลยไม่ได้เลิกจ้างและจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ทั้งสิบสองละทิ้งหน้าที่และยุยงพนักงานอื่นทั้งในและนอกบริษัทให้ก่อความวุ่นวายเกิดความไม่สงบขึ้น ทำให้แตกความสามัคคีภายในบริษัทจำเลย อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏชัดว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 มิได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะโจทก์ที่ 4 ถึงโจทก์ที่ 7 และโจทก์ที่ 9 ถึงโจทก์ที่ 12 ถูกจำเลยเลิกจ้าง มิได้เป็นผู้ได้ยินหรือทราบข้อความโดยตรงในเหตุการณ์ดังกล่าว คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 จึงเป็นพยานบอกเล่า ศาลมิอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ดี และโจทก์ทั้งสิบสองมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนมิอาจรับฟังน้ำหนักให้พอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง ศาลจึงมิอาจจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสิบสองก็ดี เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสองอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เกินคำขอท้ายฟ้อง เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องอ้างว่าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,500 บาท มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วันคิดเป็นเงิน 40,500 บาท และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวนดังกล่าว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,150 บาท แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 72,900 บาท ซึ่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งไม่ปรากฏเหตุที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ที่ถูกโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 36,450 บาท เท่านั้น แม้จำเลยอุทธรณ์ยอมรับว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 40,500 บาท ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้ค่าชดเชยตามกฎหมายเพียงจำนวนดังกล่าว ศาลก็ต้องพิพากษาให้ตามที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเท่านั้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 36,450 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share