แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” และเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ก่อนที่ บ. จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นเวลานานเกือบ 28 ปี และก่อนที่ บ. มาจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เป็นเวลานานถึง 31 ปี 2 เดือนเศษ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคำว่า “ARON” จะเขียนตัวอักษร “A” ติดกับตัวอักษร “R” และตัวอักษร “O” ติดกับตัวอักษร “N” และมีตัวอักษร “R” แตกต่างจากตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ก็ตาม แต่ตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์และตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมก็มีลักษณะการเขียนที่มองเห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ หากประชาชนผู้ซื้อสินค้าของจำเลยร่วมและสินค้าของโจทก์ไม่สังเกตความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีตัวอักษรแตกต่างกันเพียงตัวอักษรเดียวให้ดีพอ ย่อมเกิดความสับสนและหลงผิดในการซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ แม้สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมจะอ่านว่า “อารอน” หรือ “อาร่อน” ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์จะอ่านว่า “เอวอน” หรือ “เอว่อน” ก็เป็นสำเนียงเรียกขานที่คล้ายกัน ไม่ถึงกับแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศโอกาสที่จะเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมคลาดเคลื่อนไปโดยอ่านว่า “เอรอน” หรือ “เอร่อน” ได้ เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าลิปสติกตามที่จำเลยร่วมขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าลิปสติกของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมแม้จะมีตัวอักษร “AR” ในลักษณะอักษรประดิษฐ์รวมอยู่ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ARON” ซึ่งมีตัวอักษร “A, O และ N” อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ ทั้งลักษณะการเขียนคำว่า “ARON” ก็สามารถมองเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ การที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเพิ่มตัวอักษรประดิษฐ์ “AR” เข้าไปด้วยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ จนไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อนำเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าครีมทาผิว และไปใช้กับสินค้าแป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่นที่ บ. ขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ครีมทาตัวและทาหน้า แป้ง อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบปาก เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดใบหน้า และเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เพื่อใช้กับสินค้าลิปสติกซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เป็นเวลานานถึง 28 ปีเศษ กับการที่ บ. ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำนวน 2 คำขอเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ตามลำดับ เพื่อใช้กับสินค้าครีมทาผิว และเพื่อใช้กับสินค้า แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่น ตามลำดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 อันเป็นการที่ บ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอจำนวน 2 คำขอดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เป็นเวลานานถึง 31 ปีเศษ นั้น เป็นการที่ บ. ได้อาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอางสำหรับสตรีมาเป็นเวลานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แล้วเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์โดยเปลี่ยนเพียงตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษร “R” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมและนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจำนวน 3 คำขอประกอบกับปรากฏว่าสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยร่วมที่เป็นลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายอันเป็นสินค้าเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ชนิดเดียวกับสินค้าน้ำหอมดับกลิ่นที่จำเลยร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า รวมจำนวน 7 แบบ จำนวน 7 สี มีลักษณะเป็นขวดพลาสติกขนาดเท่ากัน ฝาปิดขวดเหมือนกัน ขวดมีสีเดียวกัน รอบขวดพลาสติกมีข้อความต่าง ๆ ที่เป็นตัวอักษรอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” และคำว่า “ARON” วางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันและเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน ตลอดจนใช้สีของตัวอักษรเหมือนกัน กล่าวคือ ขวดบรรจุสินค้าสีน้ำตาลของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” กับคำว่า “ARON” อยู่บนฝาขวดภายในรูปวงกลมในตำแหน่งเดียวกัน มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบนของขวดอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ถัดลงมาใช้รูปหัววัวในรูปวงกลมที่กลางขวดเหมือนกันโดยขวดมีคำว่า “AVON WILD COUNTRY” เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า “ARON NEW COUNTRY” เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว และมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” อยู่ใต้รูปหัววัวเหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีแดงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นตัวอักษร “a” ในวงกลมเหมือนกัน ใต้อักษร “a” ดังกล่าว ขวดสินค้าของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” และของโจทก์มีข้อความว่า “ariane ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “aria ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีม่วงของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปผีเสื้อกำลังบินคล้ายกัน ใต้รูปผีเสื้อขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “Butterfly” ส่วนขวดสินค้าของจำเลยร่วมเป็นคำว่า “Beautiful” และถัดลงมาของโจทก์มีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกันและที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีชมพูของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปดอกไม้สีเหลืองคล้ายกัน ด้านข้างดอกไม้สีเหลืองในแนวดิ่งของโจทก์มีคำว่า “Sweet Honesty” ส่วนของจำเลยร่วมใต้รูปดอกไม้สีเหลืองมีคำว่า “ARON Sweet Harmony” และของโจทก์มีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน และที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมมีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีฟ้าของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า “pretty Blue” กับคำว่า “Lovable Blue” คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความ “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดบรรจุสินค้าสีขาวของโจทก์กับของจำเลยร่วมมีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า “AVON” กับคำว่า “ARON” ใต้คำว่า “AVON” มีคำว่า “feelin’ fresh” พร้อมรูปใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า “white” ส่วนใต้คำว่า “ARON” มีคำว่า “feel fresh” พร้อมกับรูปเส้นโค้งสามเส้นคล้ายปลายใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า “Whitening” คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า และรอบขวดบรรจุสินค้าสีดำของโจทก์และของจำเลยร่วม มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาของโจทก์เป็นคำว่า “BLACK SUEDE” ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยร่วมเป็นคำว่า “BLACK SUEZ” ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดสินค้าของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดสินค้าของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า การที่จำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” กับสินค้าลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายดังกล่าว โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าดังกล่าวโดยทำให้ขวดบรรจุสินค้าคล้ายกับขวดบรรจุสินค้าของโจทก์ดังกล่าว ซึ่งหากประชาชนผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดีและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษย่อมสับสนและหลงผิดซื้อสินค้าไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยร่วมอย่างแจ้งชัดว่าจำเลยร่วมประสงค์ที่จะอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์โดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้มีสิทธิขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) ได้
ตามหนังสือแจ้งคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 มิถุนายน 2550 จึงเป็นการฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 390774 ทะเบียนเลขที่ ค104566 คำขอเลขที่ 236647 ทะเบียนเลขที่ ค112343 และคำขอเลขที่ 237052 ทะเบียนเลขที่ ค8237 เป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อกฎหมายและต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 16 ถึง 18 และให้จำเลยเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค104566 เลขที่ ค112343 และเลขที่ ค8237
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทรีเอ็กซ์โปรดักส์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าลิปสติกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 ตามคำขอเดิมเลขที่ 192635 ทะเบียนเลขที่ 154696 (คำขอใหม่เลขที่ 390774 ทะเบียนเลขที่ ค104566 เครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าครีมทาผิวเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 ตามคำขอเลขที่ 236647 ทะเบียนเลขที่ ค112343 และเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้า แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ตามคำขอเลขที่ 237052 ทะเบียนเลขที่ ค8237 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกสากลที่ 3 ซึ่งรวมถึงสินค้าเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ลิปสติก ครีมทาตัวและทาหน้า แป้ง อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบปาก เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดใบหน้า และเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวตามคำขอเลขที่ 463600 ทะเบียนเลขที่ ค148182 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าในขณะที่นางบุญมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมาย ซึ่งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่อาจขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) ได้ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” และเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้นว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ ปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ก่อนที่นางบุญมาจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เป็นเวลานานเกือบ 28 ปี และก่อนที่นางบุญมาจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 เป็นเวลานานถึง 31 ปี 2 เดือนเศษ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมคำว่า “ARON” จะเขียนตัวอักษร “A” ติดกับตัวอักษร “R” และตัวอักษร “O” ติดกับตัวอักษร “N” และมีตัวอักษร “R” แตกต่างจากตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ก็ตาม แต่ตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์และตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมก็มีลักษณะการเขียนที่มองเห็นได้ว่าเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ หากประชาชนผู้ซื้อสินค้าของจำเลยร่วมและสินค้าของโจทก์ไม่สังเกตความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองที่มีตัวอักษรแตกต่างกันเพียงตัวอักษรเดียวให้ดีพอ ย่อมเกิดความสับสนและหลงผิดในการซื้อสินค้าไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ แม้สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมจะอ่านว่า “อารอน” หรือ “อาร่อน” ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์จะอ่านว่า “เอวอน” หรือ “เอว่อน” ก็เป็นสำเนียงเรียกขานที่คล้ายกัน ไม่ถึงกับแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศโอกาสที่จะเรียกขานเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมคลาดเคลื่อนไปโดยอ่านว่า “เอรอน” หรือ “เอร่อน” ได้ เมื่อนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าลิปสติกตามที่จำเลยร่วมขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับสินค้าลิปสติกของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนเครื่องหมายการค้าตัวอักษร “AR” และคำว่า “ARON” ของจำเลยร่วม แม้จะมีตัวอักษร “AR” ในลักษณะอักษรประดิษฐ์รวมอยู่ในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย แต่ก็เป็นเพียงส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้านั้นไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า ส่วนที่เป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า “ARON” ซึ่งมีตัวอักษร “A, O และ N” อยู่ในตำแหน่งเดียวกับตัวอักษร “A, O และ N” ในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ ทั้งลักษณะการเขียนคำว่า “ARON” ก็สามารถมองเห็นได้ว่ามีลักษณะเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ การที่นางบุญมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเพิ่มตัวอักษรประดิษฐ์ “AR” เข้าไปด้วยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์จนไม่เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อนำเครื่องหมายการค้า ของจำเลยร่วมไปใช้กับสินค้าครีมทาผิว แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่นที่นางบุญมาขอจดทะเบียนไว้ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า ครีมทาตัวและทาหน้า แป้ง อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบปาก เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา เครื่องสำอางใช้ทำความสะอาดใบหน้า และเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เพื่อใช้กับสินค้าของโจทก์ดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดแก่ผู้ซื้อในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่นางบุญมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 192635 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เพื่อใช้กับสินค้าลิปสติกซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ตามคำขอเลขที่ 463600 ทะเบียนเลขที่ ค148182 อันเป็นการที่นางบุญมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เป็นเวลานานถึง 28 ปีเศษ กับการที่นางบุญมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 236647 และคำขอเลขที่ 237052 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 ตามลำดับ เพื่อใช้กับสินค้าครีมทาผิว และเพื่อใช้กับสินค้า แป้งทาหน้า อายแชโดว์ ดินสอเขียนคิ้ว ดินสอเขียนขอบตา โฟมล้างหน้า ครีมล้างหน้า ครีมนวดหน้า ครีมทากันแดด น้ำหอม และน้ำหอมดับกลิ่น ตามลำดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2504 ตามคำขอเลขที่ 463600 อันเป็นการที่นางบุญมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 236647 และคำขอเลขที่ 237052 ดังกล่าวหลังจากที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” เป็นเวลานานถึง 31 ปีเศษ นั้น มีเหตุผลให้เชื่อว่านางบุญมาได้อาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอางสำหรับสตรีมาเป็นเวลานานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แล้วเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์โดยเปลี่ยนเพียงตัวอักษร “V” ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษร “R” ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมและนำไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 192635 คำขอเลขที่ 236647 และคำขอเลขที่ 237052 ประกอบกับปรากฏว่าสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยร่วมที่เป็นลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายอันเป็นสินค้าเครื่องสำอางระงับกลิ่นตัวที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ตามคำขอเลขที่ 463600 ทะเบียนเลขที่ ค148182 ชนิดเดียวกับสินค้าน้ำหอมดับกลิ่นที่จำเลยร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 237052 ทะเบียนเลขที่ ค8237 รวมจำนวน 7 แบบ จำนวน 7 สี ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.4 กับ ว.จ.11 (สีน้ำตาล) ว.จ.5 กับ ว.จ.12 (สีแดง) ว.จ.6 กับ ว.จ.13 (สีม่วง) ว.จ.7 กับ ว.จ.14 (สีชมพู) ว.จ.8 กับ ว.จ.15 (สีฟ้า) ว.จ.9 กับ ว.จ.16 (สีขาว) และ ว.จ.10 กับ ว.จ.17 (สีดำ) มีลักษณะเป็นขวดพลาสติกขนาดเท่ากัน ฝาปิดขวดเหมือนกัน ขวดมีสีเดียวกัน รอบขวดพลาสติกตามวัตถุพยานดังกล่าวมีข้อความต่าง ๆ ที่เป็นตัวอักษรอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” และคำว่า “ARON” วางอยู่ในตำแหน่งเดียวกันและเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน ตลอดจนใช้สีของตัวอักษรเหมือนกัน กล่าวคือ ขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ. 4 กับ ว.จ.11 (สีน้ำตาล) มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” กับคำว่า “ARON” อยู่บนฝาขวดภายในรูปวงกลมในตำแหน่งเดียวกัน มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบนของขวดอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ถัดลงมาใช้รูปหัววัวในรูปวงกลมที่กลางขวดเหมือนกันโดยขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.4 มีคำว่า “AVON WILD COUNTRY” เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัวส่วนขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.11 มีคำว่า “ARON NEW COUNTRY” เขียนภายในวงกลมล้อมรอบรูปหัววัว และมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” อยู่ใต้รูปหัววัวเหมือนกันและที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.4 มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.11 ที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 กับ ว.จ.12 (สีแดง) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นตัวอักษร “a” ในวงกลมเหมือนกัน ใต้อักษร “a” ดังกล่าวขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ของโจทก์มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ส่วนขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.12 เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” และของโจทก์มีข้อความว่า “ariane ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “aria ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ซึ่งมีข้อความคล้ายคลึงกันมาก และที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.12 ที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 กับ ว.จ.13 (สีม่วง) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปผีเสื้อกำลังบินคล้ายกัน ใต้รูปผีเสื้อขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 ของโจทก์มีคำว่า “Butterfly” ส่วนขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.13 ของจำเลยร่วมเป็นคำว่า “Beautiful” และถัดลงมาของโจทก์มีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกันและที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.13 มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.7 กับ ว.จ.14 (สีชมพู) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปดอกไม้สีเหลืองคล้ายกัน ด้านข้างดอกไม้สีเหลืองในแนวดิ่งของโจทก์มีคำว่า “Sweet Honesty” ส่วนของจำเลยร่วมใต้รูปดอกไม้สีเหลืองมีคำว่า “ARON Sweet Harmony” และของโจทก์มีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” ส่วนของจำเลยร่วมมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน และที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.7 มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.14 มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.8 กับ ว.จ.15 (สีฟ้า) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า “pretty Blue” กับคำว่า “Lovable Blue” คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความ “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.8 ของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.15 ของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า รอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.9 กับ ว.จ.16 (สีขาว) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาเป็นคำว่า “AVON” กับคำว่า “ARON” ใต้คำว่า “AVON” มีคำว่า “feelin’ fresh” พร้อมรูปใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า “white” ส่วนใต้คำว่า “ARON” มีคำว่า “feel fresh” พร้อมกับรูปเส้นโค้งสามเส้นคล้ายปลายใบไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมและคำว่า “Whitening” คล้ายกัน และถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.9 ของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.16 ของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า และรอบขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.10 กับ ว.จ.17 (สีดำ) มีคำว่า “25% FREE” กับคำว่า “MORE 25%” ที่ด้านบน ถัดลงมาของโจทก์เป็นคำว่า “BLACK SUEDE” ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยร่วมเป็นคำว่า “BLACK SUEZ” ในกรอบสี่เหลี่ยมคล้ายกันและถัดลงมาที่ด้านล่างสุดมีข้อความว่า “ROLL-ON ANTI-PERSPIRANT DEODORANT 75 ml” เหมือนกัน ส่วนที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.10 ของโจทก์มีคำว่า “AVON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้าเหมือนกับที่ด้านหลังขวดวัตถุพยานหมาย ว.จ.17 ของจำเลยร่วมที่มีคำว่า “ARON” พร้อมกับคำบรรยายสินค้า การที่จำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” กับสินค้าลูกกลิ้งน้ำหอมระงับกลิ่นกายตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.11 ถึง ว.จ.17 โดยไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าดังกล่าวในทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค8237 โดยทำให้ขวดบรรจุสินค้าคล้ายกับขวดบรรจุสินค้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.4 ถึง ว.จ.10 ซึ่งหากประชาชนผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดีและไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษย่อมสับสนและหลงผิดซื้อสินค้าไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ซื้อได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยร่วมอย่างแจ้งชัดว่าจำเลยร่วมประสงค์ที่จะอาศัยชื่อเสียงในเครื่องหมายการค้าคำว่า “AVON” ของโจทก์โดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า “ARON” เพื่อประโยชน์ในการจำหน่ายสินค้าของตน ซึ่งโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้มีสิทธิขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 61 (4) ได้อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยร่วมแก้อุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องต่อศาลภายในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2550 จึงเกินกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า ตามหนังสือแจ้งคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 มิถุนายน 2550 จึงเป็นการฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 46/2549 และที่ 48/2549 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมตามทะเบียนเลขที่ ค104566 เลขที่ ค112343 และเลขที่ ค8237 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ