คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปตัดต้นไม้และปลูกอาคารในที่ดินของโจทก์ ขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จำเลยได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จำเลยอาศัยสิทธิของกรมป่าไม้ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ ที่ดินพิพาทเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาได้มีพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยยื่นคำร้องขอกับที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติแล้ว การที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทจึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะรับโอนมาจากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนนานเท่าใดก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งมารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม2509 โจทก์ได้ซื้อที่ดินที่มีสิทธิครอบครองจากนางแต้ม มหาศรัทธา1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ตั้งอยู่ที่เชิงเขาแหลมหญ้า หมู่ที่ 1ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง หลังจากซื้อมาแล้วโจทก์ได้ครอบครองปลูกสร้างอาคารและเก็บผลไม้ในที่ตลอดมาต่อมาจำเลยกับพวกได้บุกรุกไปตัดต้นมะพร้าว 1 ต้น ราคา 500 บาทแล้วได้ปลูกอาคารและศาลพระภูมิขึ้นอย่างละ 1 หลัง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยหยุดทำการก่อสร้างและรื้อถอนออกไป จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้วทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโจทก์ให้จำเลยชดใช้ค่าต้นมะพร้าวราคา 500 บาท กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าขาดรายได้จากการปลูกบังกะโลให้เช่าเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การใจความทำนองเดียวกันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 ซื้อมาจากนายบุญส่ง พฤกษชาติ เมื่อปี2520 โดยนายบุญส่งได้ครอบครองมาก่อนเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสืบต่อมา โดยได้มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลแทน นางแต้ม มหาศรัทธา ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทจึงมิได้ขายให้โจทก์ ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอให้สอบสวนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าชี้ขาดว่าเป็นที่ดินจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยรื้อถอนอาคารและตัดฟันต้นมะพร้าวของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอของจำเลยทั้งสองให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินพิพาทตามฟ้องอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียนฯ ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยร่วม ทั้งนี้ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 893 (พ.ศ. 2523)โจทก์หรือบุคคลที่โจทก์อ้างว่าขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ ไม่เคยยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อกันที่ดินพิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองและปลูกสร้างอาคารในที่ดินพิพาท เป็นการกระทำโดยพลการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หรือจำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยร่วมต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสองแถลงรับกันฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 200 ตารางวาตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครอง และเป็นผู้ตัดฟันต้นมะพร้าวในที่ดินพิพาทจำนวน 1 ต้น คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องขอของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ครอบครองที่ดินพิพาท เป็นการต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ จำเลยอาศัยสิทธิของกรมป่าไม้ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้เรียกกรมป่าไม้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้วคดีมีปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเขาแหลมหญ้า ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2524 และก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเป็นเขตอุทยานแห่งชาตินี้ที่ดินดังกล่าวก็อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 893 (2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 16(1) ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่นสร้างแผ้วถางหรือเผาป่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยยื่นคำร้องขอกันที่พิพาทออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติดังนั้นการที่โจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง แม้จะรับโอนมาจากผู้ที่ครอบครองอยู่ก่อนนานเท่าใดก็ตามเพราะเป็นที่ดินที่ไม่อาจโอนกันได้ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งมารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท…”
พิพากษายืน.

Share