แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
สัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นสถานศึกษาของรัฐว่าจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙ /๒๕๕๙
วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ นางนิษา ชาวน้ำ โจทก์ ยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๒๗/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๖ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และมีการต่อสัญญาจ้างตลอดมา รวม ๔ ฉบับ โดยสัญญาฉบับที่ ๑ ถึงฉบับที่ ๓ จำเลยปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๖ วรรคสอง แต่ในการทำสัญญาจ้างฉบับที่ ๔ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาและระเบียบดังกล่าว ที่กำหนดว่าเมื่อมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเห็นว่า เป็นผู้มีความสามารถเหมาะสมในการปฏิบัติงานหลังครบสัญญาจ้างจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานประจำ โดยจำเลยให้โจทก์ทำสัญญาจ้างมีกำหนด ๕ ปี ซึ่งครบกำหนดวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖โจทก์ยอมลงลายมือชื่อในสัญญาจ้างลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ด้วยความจำใจ เพราะโจทก์อยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง หากโจทก์ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาจ้าง ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ จะไม่ได้ทำงานต่อไป สัญญาจ้างลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ที่ไม่บรรจุแต่งตั้งโจทก์เป็นพนักงานประจำตามสัญญาและระเบียบของมหาวิทยาลัย จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมาวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๖ จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากราชการ เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากขณะเลิกจ้างโจทก์อายุ ๕๒ ปี หากได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำจะได้ทำต่อจนครบเกษียณอายุ ๖๐ ปี ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส รวมเป็นเงิน ๒,๒๘๓,๓๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมีฐานะเป็นราชการส่วนกลาง ได้รับยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ใช้บังคับกับจำเลย การทำงานของโจทก์ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเลยกำหนด จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ การทำสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ เป็นการทำสัญญาจ้างที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและโจทก์ทราบระเบียบข้อบังคับของจำเลยดีแล้ว จึงสมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลย การทำสัญญาของโจทก์จึงมิได้เกิดจากความจำใจเพราะอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของจำเลยและข้อตกลงในสัญญาไม่มีลักษณะหรือมีผลทำให้โจทก์ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าวิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ ทั้งจำเลยมีเหตุอันควรให้โจทก์ออกจากการเป็นพนักงานคำสั่งของจำเลยจึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นการจ้างเพื่อสนับสนุนการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นส่วนราชการทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยแล้วฟังได้ในชั้นนี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นกรณีที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป โดยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความสัมพันธ์ฉันนายจ้างกับลูกจ้าง สัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีลักษณะเป็นข้อสัญญาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตกลงทำงานให้ฝ่ายหนึ่งและจำเลยซึ่งเป็นผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานและตกลงจ่ายค่าจ้างให้อีกฝ่ายหนึ่งเช่นเดียวกับข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่สัญญาจ้างทางปกครอง นอกจากนี้ข้อพิพาทตามคำฟ้องยังมีลักษณะเป็นการขอให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะในศาลแรงงาน ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๔ บัญญัติคำนิยาม พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค้าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษาและมาตรา ๖๕/๑ บัญญัติว่า การกำหนดตำแหน่งระบบการจ้างการบรรจุและแต่งตั้ง อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทน เงินเพิ่มและสวัสดิการ การเลื่อนตำแหน่ง การเปลี่ยนและการโอนย้ายตำแหน่ง การลา จรรยาบรรณ วินัยและการรักษาวินัย การดำเนินการทางวินัย การออกจากงาน การอุทธรณ์และการร้องทุกข์และการอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษาบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติว่าด้วยขอบเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใดศาลหนึ่ง แต่เป็นเพียงบทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดฐานะ หน้าที่และการบริหารงานบุคคลของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) มิใช่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นสถานศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาหรือสถานอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ (๓) และมาตรา ๔๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ ๒๕๔๖ ประกอบมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นการที่จำเลยตกลงจ้างและโจทก์ตกลงทำงานเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป โดยจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนตามสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา อันเป็นภารกิจหลักหรือเป็นอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งจำเลยตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้ว กฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้นำมาใช้บังคับกับลูกจ้างที่ทำงานในส่วนราชการ เนื่องจากมีระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างหรือการเลิกจ้างของส่วนราชการกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย จึงมิได้เป็นความสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างที่จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน แต่เป็นสัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยและการทำสัญญาการปฏิบัติงานกับผู้ที่เข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ดังนั้นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางการปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน มิใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ อันจะเข้าข้อยกเว้นเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย เนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมีฐานะเป็นราชการส่วนกลางได้รับยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ ใช้บังคับกับจำเลย การทำงานของโจทก์ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเลยกำหนด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย และโต้แย้งว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า สัญญาจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยเป็นสถาบันซึ่งมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นโดยเฉพาะและมีฐานะเป็นกรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับ จึงมีฐานะเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๔๑ สัญญาพิพาทในคดีนี้เป็นสัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชนเพื่อให้บริการสาธารณะบรรลุผล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามกฎหมายเอกชน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางนิษา ชาวน้ำ โจทก์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ