แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในคดีแพ่งที่ผู้เสียหายฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้เสียหายโดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาหลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกข้าวในที่นาพิพาทเป็นเวลาหลายเดือนจนข้าวจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว การยื่นคำร้องขอของผู้เสียหายจึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงยังไม่สมควรจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) มาใช้แก่จำเลยที่ 1 อันอาจเป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าไปเก็บเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท เพราะเชื่อว่าเป็นต้นข้าวที่จำเลยที่ 1 ปลูกไว้ก็ตาม แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานบุกรุกที่นาพิพาทของผู้เสียหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย และผลของคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่นาพิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ในวันเกิดเหตุหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าไปเกี่ยวข้าวซึ่งปลูกอยู่ในที่นาพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ได้ข้าวจำนวน 50 มัด นำไปวางไว้บนคันนาอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักข้าวเปลือกที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1818/2551 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ในคดีแพ่งที่ผู้เสียหายฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้เสียหายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 โดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาหลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกข้าวในที่นาพิพาทเป็นเวลาหลายเดือนจนข้าวจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว การยื่นคำร้องขอของผู้เสียหายจึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงยังไม่สมควรจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) มาใช้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณา อันอาจเป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าไปเก็บเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท เพราะเชื่อว่าเป็นต้นข้าวที่จำเลยที่ 1 ปลูกไว้ก็ตาม แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2551 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานบุกรุกที่นาพิพาทของผู้เสียหาย ตามสำเนาคำพิพากษาอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย และผลของคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่นาพิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แต่ในวันเกิดเหตุหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าไปเกี่ยวข้าวซึ่งปลูกอยู่ในที่นาพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ได้ข้าวจำนวน 50 มัด นำไปวางไว้บนคันนาอีกโดยคดีได้ความจากคำเบิกความของนายเขียว และนายเทิน พยานโจทก์ว่า ในฤดูทำนาปี 2551 ผู้เสียหายเป็นผู้ทำนาในที่นาพิพาท และยังได้ความจากคำเบิกความของนายเลียบ น้องของผู้เสียหายว่า วันเกิดเหตุ พยานเห็นจำเลยทั้งสี่เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่มาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสี่ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับจำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่าเข้าไปในที่นาพิพาทด้วย เพียงแต่บ่ายเบี่ยงอ้างว่า ไปเกี่ยวตอซังข้าวและหญ้าตามคันนาตามที่จำเลยที่ 3 บอกให้เกี่ยว ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำสืบอ้างว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่เข้าไปปลูกไว้เอง ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 เสียหายพาพวกเข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท จำเลยที่ 1 ห้ามปราม แต่ผู้เสียหายกับพวกไม่เชื่อฟัง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทสุรศักดิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรนาเชือกนั้น ได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทสุรศักดิ์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพยาน คงมีผู้เสียหายที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพยานว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเข้าไปลักเกี่ยวข้าวของผู้เสียหายในที่นาพิพาท พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักเป็นข้าวที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเกี่ยวจำนวน 50 มัด เป็นเงิน 2,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับผู้เสียหายก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสี่ แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสี่หลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยทั้งสี่อีกสถานหนึ่งด้วย
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักข้าวเปลือกที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 3,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยทั้งสี่ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30