คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8868/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่โดยอ้างเหตุตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 5(3)ซึ่งมาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติให้คำร้องนั้นต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 โดยละเอียดชัดแจ้ง แต่ปรากฏว่าคำร้องของผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่ามีพยานหลักฐานใหม่ตามบัญชีพยานท้ายคำร้องที่จะแสดงชี้ชัดเท่านั้น ไม่ปรากฏข้ออ้างโดยละเอียดชัดแจ้งเพื่อให้เห็นว่าพยานหลักฐานใหม่มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงไม่นำมาพิสูจน์ว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตั้งแต่แรก ที่สำคัญพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญแก่คดีมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาที่ได้พิพากษาลงโทษผู้ร้องไปแล้วได้หรือไม่ เมื่อคำร้องมิได้อ้างเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีคำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่มีมูลและชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบด้วยมาตรา 10 เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีนั้นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้ร้องฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน วางโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจำคุกตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาพิพากษายืน ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ต้องระบุเหตุตามกฎหมายโดยละเอียดชัดแจ้ง (มาตรา 8 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526) ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นแต่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลและอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่เข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าพยานหลักฐานใหม่ที่อ้างนั้น เป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงไม่นำมาสืบในชั้นพิจารณา(เดิม) จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีรายละเอียดชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ไม่รับคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ของผู้ร้องมีมูลตามกฎหมายที่ชอบจะรับไว้ไต่สวนหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่โดยอ้างเหตุตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่พ.ศ. 2526 มาตรา 5(3) ซึ่งมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้คำร้องนั้นต้องอ้างเหตุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 5 โดยละเอียดชัดแจ้ง แต่ปรากฏว่าคำร้องของผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่ามีพยานหลักฐานใหม่ตามบัญชีพยานท้ายคำร้องที่จะแสดงชี้ชัดเท่านั้น ไม่ปรากฏข้ออ้างโดยละเอียดชัดแจ้งเพื่อให้เห็นว่า พยานหลักฐานใหม่มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงไม่นำมาพิสูจน์ว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตั้งแต่แรก ที่สำคัญพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญแก่คดีมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาที่ได้พิพากษาลงโทษผู้ร้องไปแล้วได้หรือไม่ เมื่อคำร้องมิได้อ้างเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งเช่นนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่มีมูล และชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนนั้นไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 10 เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีนั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งใหม่”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share