คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องเดิมที่โจทก์ฟ้องจำเลย ฉะนั้น แม้คดีร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องได้ตั้งจำนวนทุนทรัพย์มา 5,000 บาท ก็หาเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาไม่

ย่อยาว

คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินตามเช็คทุนทรัพย์ ๑,๕๐๐ บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยใช้เงิน จำเลยไม่ชำระ ศาลชั้นต้นสั่งให้บังคับคดี โจทก์นำยึดเรือน ๑ หลัง ราคา ๕,๐๐๐ บาท ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเรือนดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนตัวของผู้ร้องจำเลยเป็นแต่เพียงผู้อยู่อาศัย ขอให้ปล่อยทรัพย์
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องว่า “คดีมีทุนทรัพย์ ๕,๐๐๐ บาท เกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๕,๒๒(๑) ถึง (๕) และต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๒(๑) จึงให้ยกคำร้อง ให้ผู้ร้องดำเนินคดีต่อศาลที่มีอำนาจ ฯลฯ”
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้พิจารณา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การพิจารณาชั้นร้องขัดทรัพย์ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๘ วรรคต้น บัญญัติว่าก่อนที่จะเอาทรัพย์สินที่ถูกยึดออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ผู้ร้องอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ ฉะนั้นถึงแม้ว่าคดีนี้ผู้ร้องขัดทรัพย์ได้ตั้งจำนวนทุนทรัพย์มา ๕,๐๐๐ บาทก็หาเกินอำนาจศาลแขวงพิษณุโลกที่จะพิจารณาพิพากษาไม่คำร้องขัดทรัพย์เช่นว่านี้ มาตรา ๗(๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติว่าให้เสนอต่อศาลที่ระบุในมาตรา ๓๐๒ ซึ่งมาตรา ๓๐๒ ก็บัญญัติไว้ชัดว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดี ฯลฯ หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษา ฯลฯ ซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินในชั้นต้น ฯลฯ” ซึ่งสำหรับคดีนี้ก็คือศาลแขวงพิษณุโลก
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share