แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ร่วมฎีกาและยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกา ศาลชั้นต้น สั่งฎีกาว่า ฎีกาโจทก์ร่วมต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาและสั่งคำร้องว่า ศาลสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2532 แล้ว จึงให้ยกคำร้องเสียโจทก์ร่วมเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายกล่าวคือ ข้อ 2.1 เป็นการฎีกาในเรื่องการแปลความกฎหมาย ข้อ 2.2ฎีกา ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน และข้อ 2.3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องการปรับข้อเท็จจริงที่ ฟังเป็นยุติแล้วเข้ากับข้อกฎหมาย นอกจากนี้การขอแก้ไขฎีกาของโจทก์ร่วมก็เป็นการขอแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดเพื่อให้ เนื้อหาใจความถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้น มิได้ทำให้ประเด็นในฎีกาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด อีกทั้งได้ขอแก้ไขเข้ามาภายในอายุฎีกาโจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิขอแก้ไขได้ตามกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาและคำร้องขอแก้ไขฎีกาของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยทั้งสี่ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 74,75)โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188,83
ระหว่างพิจารณา นายชัยณรงค์สุระศันสนีย์ ผู้เสียหายขอเข้าเป็น โจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา และยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาและให้ยกคำร้องดังกล่าว (อันดับ 69 แผ่นที่ 2,70)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 72 แผ่นที่ 2)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ได้บัญญัติห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาไม่ว่าปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงเว้นแต่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 221 แห่งกฎหมายดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว ยกคำร้อง