คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813-2839/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121, 123 และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ก็ได้
การเลิกจ้างที่จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 123 นั้น จะต้องปรากฏว่ามีการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและคู่กรณีสามารถตกลงกันได้หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มี คำชี้ขาดตามมาตรา 13, 22, 24 แล้วในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ ส่วนการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร ซึ่งอาจเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้าง ยกเหตุที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ดังที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ จำเลยจึงอ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวะ การขาดทุนต้องปิดกิจการสาขาในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ขึ้นต่อสู้ได้ ศาลแรงงานกลางจึงสามารถรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวและนำมาวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยที่ยัง จ่ายไม่ครบ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดตามจำนวนเงินในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นอาจเป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑, ๑๒๓ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ก็ได้
การเลิกจ้างที่จะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๑๒๓ นั้น จะต้องปรากฏว่า มีการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและคู่กรณีสามารถตกลงกันได้หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มี คำชี้ขาดตามมาตรา ๑๓, ๒๒, ๒๔ แล้วในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ นายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องนั้นโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างเลิกจ้างได้ ส่วนการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๙ หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควรซึ่ง อาจเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ คดีนี้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ด บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดโดยอ้างว่าจำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของจำเลยใหม่ ไม่ต้องการจ้างพนักงานเอง จะว่าจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินงานแทน และจำเลยประสงค์จะเลิกจ้างพนักงานก่อนที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มมากขึ้น หาได้ปรากฏว่า ได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ด ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับทั้งศาลแรงงานกลางก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงว่า ได้มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีจึงไม่ต้องด้วย การกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ จึงไม่ต้องพิจารณาว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างนั้นเกิดจากการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดตามข้อยกเว้นในมาตราดังกล่าวหรือไม่ กรณีต้องปรับด้วยการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งมิได้บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างยกเหตุที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นต่อสู้ดังที่โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดอ้างในอุทธรณ์จำเลยจึงอ้างเหตุว่าจำเลยประสบภาวะการขาดทุนต้องปิดกิจการสาขาในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดขึ้นต่อสู้ได้ ศาลแรงงานกลางจึงสามารถรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวและ นำมาวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น?
พิพากษายืน

Share