คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยรับสินค้าของโจทก์มาจำหน่ายเป็นเวลาหลายปีแล้วเลิกเสีย หันมาผลิตสินค้าประเภทเดียวกันขึ้นจำหน่ายเอง โดยใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แทบทั้งหมด มีตัวอักษรส่วนประกอบปลีกย่อยผิดเพี้ยนกันไปบ้างเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์ดังนี้ฟังได้ว่าจำเลยเอาแบบรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่จำเลยเคยรับมาจำหน่าย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272
แม้เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะไม่ได้จดทะเบียน แต่ถ้ามีผู้เอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใดๆในการประกอบการค้าของเขาไปใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าอันแท้จริง เจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเคยรับสินค้าน้ำมันวานิชของโจทก์มาจำหน่ายเป็นเวลาหลายปี แล้วผลิตน้ำมันวานิชขึ้นจำหน่ายเอง โดยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271, 272

จำเลยให้การปฏิเสธ

ชั้นพิจารณาจำเลยแถลงรับว่า เคยรับสินค้าของโจทก์ไปจำหน่าย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาก่อนจึงมีสิทธิฟ้องได้ ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271, 272 จำคุก 3 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำรอไว้ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 1

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 เพียงมาตราเดียว นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและสินค้าของจำเลยไม่ได้เลียนแบบรอยประดิษฐ์สินค้าของโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเคยรับสินค้าของโจทก์มาจำหน่ายเป็นเวลาหลายปี แล้วเลิกเสีย หันมาผลิตสินค้าประเภทเดียวกันขึ้นจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์แทบทั้งหมด มีตัวอักษรส่วนประกอบปลีกย่อยผิดเพี้ยนกันไปบ้างเพียงเล็กน้อยพฤติการณ์ดังนี้ฟังได้ว่า จำเลยเอาแบบรูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่จำเลยเคยรับมาจำหน่าย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272

ที่จำเลยฎีกาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 29 บัญญัติว่า “เมื่อใช้พระราชบัญญัตินี้ 5 ปีแล้ว ท่านว่าผู้ใดจะนำคดีมาศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่ได้” ศาลฎีกาเห็นว่าในมาตรา 29 นั้นเอง วรรคท้ายบัญญัติว่า “ข้อความในพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบถึงสิทธิในการฟ้องร้องคดี ซึ่งจำเลยเอาสินค้าของจำเลยไปหลอกขายว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น และไม่ตัดสิทธิทางแก้อันผู้เสียหายจะพึงมี” จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้โจทก์ฟ้องโดยเด็ดขาดดังฎีกาของจำเลย นอกจากนี้แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาชื่อรูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่น ต้องระวางโทษ ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรานี้แม้เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะไม่ได้จดทะเบียน แต่ถ้ามีผู้เอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของเขาไปใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าอันแท้จริง ก็ย่อมเป็นความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273, 274 บัญญัติถึงความผิดในการประกอบหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว จึงเห็นได้ว่าถ้ากฎหมายประสงค์คุ้มครองแต่เฉพาะเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนแล้วก็คงไม่ต้องบัญญัติมาตรา 272 เอาไว้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยได้เอา แบบ รูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ที่จำเลยเคยรับมาจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272จึงเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องได้

Share