แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากตึกพิพาทอ้างว่าอยู่โดยละเมิด จำเลยต่อสู้ว่าอยู่ในตึกพิพาทโดยเช่าจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ร้องได้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(2) อ้างว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ดังนี้ การที่โจทก์จะมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยเพียงใด เป็นเรื่องระหว่างโจทก์จำเลย แม้จำเลยจะไปทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับผู้ร้องในภายหลัง ผลแห่งคดีก็ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องอย่างใด จึงไม่ถือว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี และการที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(2) นั้น ก็อยู่ในอำนาจศาลที่จะพิจารณาว่าคดีมีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตหรือไม่ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า จำเลยได้เข้าอยู่ในตึกพิพาทซึ่งเป็นของศาลเจ้าโดยละเมิด ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ตึกพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินของเอกชน จำเลยอยู่ในตึกพิพาทโดยเช่าจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ผู้ร้องทั้งห้าร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๒) อ้างว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี
ศาลชั้นต้นสั่งว่ากรณีไม่เข้าลักษณะที่จะร้องสอดได้ตามขอ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยอ้างว่าจำเลยอยู่โดยละเมิด ฉะนั้น โจทก์จะมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยเพียงใดเป็นเรื่องระหว่างโจทก์จำเลย แม้จำเลยจะไปทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับผู้ร้องในภายหลัง ผลแห่งคดีก็ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องอย่างใด จึงไม่ถือว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี และการที่บุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๗(๒) นั้น อยู่ในอำนาจศาลที่จะพิจารณาว่าคดีมีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตหรือไม่ เฉพาะคดีนี้มีเหตุหลายประการที่แสดงว่าไม่สมควรอนุญาตตามขอ จึงพิพากษายืน.