แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่เจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหามา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ผู้ต้องหาเป็นลูกบ้านมาพูดรับรองขอเอาตัวผู้ต้องหาไปพูดจากันประเดี๋ยวเดียวแล้วจะส่งคืน อันเป็นการที่จำเลยมีเจตนาจะช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปและจำเลยได้ช่วยให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปทั้งที่เจ้าพนักงานได้ตามไปนั่งคอยรับตัวผู้ต้องหาอยู่ที่หน้าบ้านของจำเลยที่ 2 ดังนี้ ถือว่าจำเลยได้ทำการช่วยเหลือผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในระหว่างการควบคุมให้หลุดพ้นไป
กรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดเจนพอประกอบเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 191 แล้ว และไม่ต้องด้วยมาตรา 189
โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 189 ซึ่งเป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลก็มีอำนาจวางบทและวางโทษตามมาตรา 191 อันเป็นบทที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรค 4 ทั้งนี้แม้อัตราโทษตามมาตรา 191 สูงกว่ามาตรา 189 ก็ตาม เพราะบทบัญญัติวรรค 4 เป็นข้อยกเว้นของวรรคแรกจำเลยจะอ้างว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอมิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เวลากลางวัน นายพุทธา พรหมเวหา เจ้าพนักงานได้นำตัวนายประเสริฐ นายสมศักดิ์ ผู้ต้องหาว่าลักทรัพย์และฆ่าโคมิได้รับอนุญาต ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ไปส่งพนักงานสอบสวนอำเภอเซกา จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ ๒ ได้รับตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนเพื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวและสอบถามในฐานะลูกบ้านของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองรับตัวไปแล้วหาส่งคืนไม่ กลับบังอาจสมคบกันช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้ต้องหาหลบหนีไป อันเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อมิให้ต้องโทษ เหตุเกิดที่ตำบลท่ากกแดง อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๙
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลจังหวัดหนองคายฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่าผู้ต้องหาทั้งสองถูกควบคุมมาโดยเป็นผู้ต้องหาว่าทำผิดฐานลักโคและฆ่าโคไม่รับอนุญาตอันมิใช่ความผิดลหุโทษ และจำเลยทั้งสองร่วมกันช่วยผู้ต้องหาทั้งสองคนเพื่อไม่ต้องให้รับโทษจริง จึงพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘๙ จำคุกคนละ ๘ เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าคดีนี้ผู้ต้องหาได้ถูกจับกุมและใส่กุญแจมือเพื่อนำส่งอำเภอ แม้จะไขกุญแจมือออกและไปบ้านจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยมาพูดขอประกันและรับรองจะส่งคืนก็ดี ก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาได้ถูกจับกุมและอยู่ในระหว่างควบคุมของนายพุทธาผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อผู้ต้องหาหลบหนีไป จำเลยจึงไม่ผิดมาตรา ๑๘๙ ที่โจทก์อ้างในฟ้อง แต่โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดว่า จำเลยได้ช่วยเหลือนายประเสริฐ นายสมศักดิ์ ผู้ต้องหาหลบหนี ขณะนำส่งพนักงานสอบสวนให้พ้นจากการคุมขังไป อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๙๑ แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ให้ลงโทษตามบทกฎหมายที่กล่าวแล้ว แม้โจทก์มิได้อ้างมาตรา ๑๙๑ มาด้วย ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยได้ พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๙๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาข้อกฎหมายข้อ ๒ ก.ว่า “ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๙๑ นั้น เป็นการพิพากษาคดีเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒” และฎีกาข้อกฎหมาย ข้อ ๒ ข. “ว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือคำพยานหลักฐานในสำนวน”
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาข้อ ๒ ข.ว่า ไม่มีเหตุผลจะฟังว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากคำพยานหลักฐานในสำนวน และที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะที่นายพุทธาซึ่งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมตัวผู้ต้องหามา จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ผู้ต้องหาเป็นลูกบ้าน มาพูดรับรองขอเอาตัวผู้ต้องหาไปพูดจากันประเดี๋ยวเดียว แล้วจะส่งคืน อันเป็นการที่จำเลยมีเจตนาจะช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปและจำเลยได้ช่วยให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปทั้งที่นายพุทธาได้ตามไปนั่งคอยรับตัวผู้ต้องหาอยู่ที่หน้าบ้านจำเลยที่ ๒ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยว่า ตามพฤติการณ์ต้องถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างการควบคุมของนายพุทธา และจำเลยมีเจตนาจะช่วยเหลือผู้ต้องหาเพื่อมิให้รับโทษมาแต่ต้นแล้ว ได้ทำการช่วยเหลือผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในระหว่างการควบคุมนั้นให้หลุดพ้นไป ที่นายพุทธาไขกุญแจ ถอดโซ่ มอบตัวผู้ต้องหาให้จำเลยก็เพราะจำเลยขอร้อง นายพุทธาจึงผ่อนผันไขกุญแจให้โดยเชื่อว่าจำเลยคงไม่ปล่อยให้ผู้ต้องหาหลบหนี การกระทำของจำเลยจึงเป็นการช่วยผู้ต้องหาให้หลุดพ้นจากการควบคุมหรือคุมขัง อันเป็นการผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ มิใช่เป็นการช่วยผู้ต้องหาไม่ใช่ถูกจับกุมตามมาตรา ๑๘๙
สำหรับข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า ตามฟ้องตอนแรกแสดงว่าผู้ต้องหายังอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน เพราะบรรยายว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้านที่ผู้ต้องหาเป็นลูกบ้าน และจำเลยที่ ๑ ขอรับตัวผู้ต้องหาไปในฐานะที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้ว ส่วนตอนหลังบรรยายว่า จำเลยกลับบังอาจสมคบกันช่วยเหลือส่งเสริมให้ผู้ต้องหาหลบหนีไป เป็นการแสดงว่าจำเลยได้ช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาหลบหนีการควบคุมนั้น มิใช่ช่วยไม่ให้ถูกจับกุม จึงเห็นว่าฟ้องชัดเจนพอประกอบเป็นความผิดตามมาตรา ๑๙๑ แล้ว และไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๘๙ ส่วนที่บรรยายฟ้องต่อไปว่าการกระทำของจำเลยเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดอันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อมิให้ต้องรับโทษนั้น ก็ไม่ขัดกับการกระทำผิดตามมาตรา ๑๙๑ ฉะนั้น ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๑๘๙ จึงเป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจวางบทและวางโทษตามมาตรา ๑๙๑ อันเป็นบทที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ ทั้งนี้ แม้อัตราโทษตามมาตรา ๑๙๑ สูงกว่ามาตรา ๑๘๙ ก็ตาม เพราะบทบัญญัติวรรค ๔ เป็นข้อยกเว้นของวรรคแรก จำเลยจะอ้างว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๗/๒๔๘๒ และที่ ๙๗/๒๔๘๔ รูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ จะนำมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด พิพากษายืน