แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง จึงมีคำสั่งไม่รับ
จำเลยเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 3 ที่ว่าเมื่อจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 57/6 หมู่ที่ 1 ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ตามเอกสารหมาย ล.2 ย่อมเป็นการยืนยันสถานภาพของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ว่ายังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอีกทั้งในระหว่างการประชุมที่สำนักงานของจำเลยซึ่งโจทก์ที่ 1ที่ 2 ได้ผละจากที่ประชุมแล้วไม่มาทำงานอีกต่อไป แต่จำเลยได้มีประกาศให้โจทก์ทุกคนมาทำงานตามเอกสารหมาย ล.4 ย่อมแสดงว่าจำเลยยังมิได้มีการเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 แต่ศาลแรงงานกลางกลับเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์แล้ว จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งการตีความการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนต่อพยานหลักฐาน โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์จำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ทนายโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 62)
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีก 4 สำนวน ซึ่งโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างพิจารณา โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 12,600 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 5,180 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 3,780 บาท ให้โจทก์ที่ 1 และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 10,500 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,316 บาท และค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 3,150 บาท ให้โจทก์ที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว(อันดับ 53)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 59)
คำสั่ง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสั่งปิดโรงงานแล้วเรียกโจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นมาประชุม ที่สำนักงานใหญ่ เสนอให้โจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นลาออก โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หากโจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นไม่ลาออกจำเลยจะไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้างและจะให้มาทำงานที่สำนักงานใหญ่ต่อไป โดยตัดค่าจ้างร้อยละสามสิบเมื่อโจทก์และพนักงานอื่นไม่ยอมรับเงื่อนไข จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นทำงานภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป แสดงว่าจำเลยปิดโรงงานโดยมีเจตนาจะมิให้โจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นทำงานภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป เป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองแล้วที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเรียกโจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นไปประชุมที่สำนักงานใหญ่ ยังถือว่าโจทก์ทั้งสองและพนักงานอื่นยังเป็นพนักงานของจำเลยอยู่ และจำเลยยังมิได้แสดงออกถึงการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางแปลความหมายของคำเบิกความพยานจำเลยคลาดเคลื่อนผิดไปจากความจริง จำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง