แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ แล้วตายลง ภายหลังที่ศาลฎีกาได้ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นเพื่อจะอ่านให้คู่ความฟังแล้วนั้น หาได้มีกฎหมายบัญญัติให้คดีอาญาระงับไปไม่ เมื่อคดีมาถึงศาลฎีกาและโจทก์ตายเมื่อได้ดำเนินคดีมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้วศาลฎีกาย่อมดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปได้(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเป็นอาญาสินไหมว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและนางเยื้องจำเลยที่ 2 เป็นน้องสาวนางยอมภริยาโจทก์ เมื่อเดือน 4 พ.ศ. 2501 วันใดจำไม่ได้ เวลากลางวัน โจทก์กับนางยอมเอาเงินของโจทก์ 50,000 บาท ไปฝากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้รับเก็บไว้ในหีบเหล็กและครอบครองดูแลรักษาไว้ให้โจทก์ และมอบลูกกุญแจแก่โจทก์ 2 ลูก ต่อมาวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 พ.ศ. 2503 โจทก์ไปเอาเงินที่ฝากจำเลย 20,000 บาทรวมกับเงินที่อยู่ที่โจทก์ 10,000 บาท ไปถวายพระวิสุทธิพรหมจรรย์เพื่อสร้างกุฏิในวัดไตรมาศสถิตย์ แต่เงินในการสร้างกุฏิยังไม่พอ ขาดอีก 10,000 บาท โจทก์จึงขอถวายเพิ่มเติมครั้นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2503 โจทก์ไปเอาเงินที่ยังเหลือฝากจำเลยไว้อีกนั้น จำเลยไม่ให้ เอาหีบเหล็กที่ใส่เงินไว้ไปเสีย จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองเบียดบังยักยอกเอาเงิน 30,000 บาทของโจทก์ไปโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลโคกกลอยอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 83 ขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 30,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่า ไม่เคยรับฝากเงินของโจทก์ โจทก์และนางยอมไม่เคยเอามาฝาก วันเดือน 4 พ.ศ. 2503 โจทก์ไม่เคยมาเอาเงิน 20,000 บาท หีบเหล็กของจำเลย นางยอมเอาไปจากจำเลยกว่า 5 ปีแล้ว ไม่ทราบว่าเอาไปไว้ที่ไหน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เชื่อว่าโจทก์กับนางยอมภริยาเอาเงิน 50,000 บาทไปฝากจำเลยทั้งสองจริง โจทก์เอาคืนมาแล้ว 20,000 บาท ยังเหลืออีก 30,000 บาท และฟังว่านางยอมเอาเงิน 30,000 บาทนั้นไป ไม่ได้ความว่าจำเลยเบียดบังหรือร่วมกันให้นางยอมเอาเงินนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยักยอกเงินของโจทก์และนางยอมซึ่งเป็นภริยาโจทก์เป็นผู้เอาเงินนั้นไป จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงิน 30,000 บาทให้โจทก์พิพากษายกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษและบังคับจำเลยคืนเงิน 30,000 บาทให้โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า รูปคดียังฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้ฝากเงินจำเลยจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยยักยอกหรือไม่ พิพากษายืนในข้อที่ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายชั้นอุทธรณ์ 300 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกาว่า พยานโจทก์พอฟังลงโทษจำเลยได้ ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยและให้จำเลยใช้เงิน 30,000 บาท และค่าธรรมเนียมค่าทนาย รวม 3 ศาลแก่โจทก์โดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาได้ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟัง แต่ปรากฏว่านายปาน ทวีการ โจทก์ตายเสียก่อน พระครูอนุศาสน์วิศิษฐ์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ในวันที่ 24 เมษายน 2506 ว่าเป็นผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของผู้มรณะ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ส่งมาให้ศาลฎีกาสั่ง แต่ศาลฎีกาเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวไม่แจ้งชัดว่าผู้ร้องประสงค์จะรับทรัพย์มรดกหรือมรดกความ จึงสั่งให้ศาลชั้นต้นสอบถาม ศาลชั้นต้นสอบถามแล้ว ผู้ร้องมีความประสงค์ขอรับมรดกความศาลชั้นต้นจึงได้ไต่สวนพยานผู้ร้องตามมาตรา 43 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยสั่งไปแล้วว่า ผู้ร้องรับมรดกความได้แต่ในส่วนแพ่ง ในส่วนอาญานั้น ผู้ร้องมิใช่บุคคลตามที่มาตรา 29 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุไว้ จึงไม่มีสิทธิที่จะดำเนินคดีในส่วนอาญาต่างผู้ตายต่อไปได้จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องรับมรดกความได้แต่ในส่วนแพ่ง
ส่วนเรื่องที่โจทก์ตายภายหลังที่ศาลได้ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังเช่นนี้ ศาลฎีกาจะดำเนินคดีอันเกี่ยวกับความผิดอันยอมความได้ต่อไปหรือไม่ สำหรับปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาได้ปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า คดีนี้ ถึงแม้จะเป็นความผิดอาญาอันยอมความกันได้ และโจทก์ได้ตายแล้วก็ตาม แต่หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าในคดีอาญานั้นเมื่อโจทก์ตายแล้วให้คดีระงับไปไม่ คงมีแต่ในเรื่องที่จำเลยตาย และในเรื่องที่ว่าเมื่อโจทก์ตายใครบ้างที่จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 29 เท่านั้น แต่เมื่อคดีมาถึงศาลฎีกาแล้วและโจทก์ตาย เมื่อได้ดำเนินคดีมาครบถ้วนบริบูรณ์แล้วเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ในส่วนอาญาต่อไปได้
ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เชื่อเป็นความจริงว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดจริงดังโจทก์ฟ้อง จึงพิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 จำคุกไว้คนละ 1 ปี ร่วมกันใช้เงิน 30,000 บาทให้โจทก์ ให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนาย 3 ศาล 600 บาทแก่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้กำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56