คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1063/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์นำรถจักรยานยนต์จอดไว้ที่สถานที่รับจอดรถของจำเลยโดยจำเลยคิดค่าบริการวันละ 5 บาท และออกบัตรอนุญาตจอดรถจักรยานยนต์ให้ โจทก์จอดรถในบริเวณสถานที่รับจอดรถของจำเลยล็อกกุญแจรถและเก็บกุญแจไว้ที่โจทก์ แสดงว่าโจทก์ส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้จำเลยและจำเลยยอมรับรถจักรยานยนต์จากโจทก์มาอยู่ในความอารักขาของจำเลยแล้ว โดยมีพนักงานของจำเลยเป็นผู้ดูแลรถ หากโจทก์จะนำรถออกจากสถานที่จอดรถ ต้องแสดงบัตรอนุญาตต่อพนักงานของจำเลย แม้บัตรดังกล่าวจะระบุเพียงว่าเป็นบัตรอนุญาตให้จอดรถจักรยานยนต์ และไม่มีข้อความใดระบุว่าเป็นการรับฝากรถ แต่การปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657เมื่อรถจักรยานยนต์ของโจทก์หายไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2541 โจทก์นำรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ รุ่นปี 1993 คันหมายเลขทะเบียนนครราชสีมา ขนก 121 หรือทะเบียนเดิม ประจวบคีรีขันธ์ ต – 8703 ของโจทก์ ฝากไว้ที่สถานที่รับฝากรถของจำเลยซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา 2 โดยโจทก์ชำระเงินค่าบำเหน็จในการรับฝากรถ และพนักงานของจำเลยได้ออกบัตรอนุญาตจอดรถให้โจทก์เก็บไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาโจทก์นำหลักฐานดังกล่าวไปแสดงเพื่อขอรับรถคืน แต่พนักงานของจำเลยผัดผ่อนและในที่สุดเพิกเฉย รถจักรยานยนต์ของโจทก์มีราคา 30,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนรถจักรยานยนต์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์พิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถ เพียงแต่ให้โจทก์เช่าพื้นที่จอดรถ คิดค่าบริการวันละ 5 บาท โจทก์นำรถพิพาทเข้าจอดในพื้นที่จอดรถของจำเลยและล็อกกุญแจกันขโมยแล้วเก็บกุญแจรถไว้เองการครอบครองรถพิพาทจึงอยู่กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ คันหมายเลขทะเบียน นครราชสีมา ขนก 121 แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 ตุลาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกาเพียง 25,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะในข้อกฎหมาย แม้จำเลยจะฎีกาในข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกา เนื่องจากเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ก็เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แห่งบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยคงฎีกาได้เฉพาะในข้อกฎหมายว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเข้าลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบมาตรา 238 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์นำรถจักรยานยนต์พิพาท หมายเลขทะเบียน นครราชสีมาขนก 121 ไปจอดไว้ที่สถานที่รับจอดรถของจำเลยซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา 2 โดยจำเลยคิดค่าบริการวันละ 5 บาท และออกบัตรอนุญาตจอดรถจักรยานยนต์ตามเอกสารหมาย จ.5 ให้ โจทก์นำรถเข้าไปจอดในบริเวณสถานที่รับจอดรถของจำเลย ล็อกกุญแจและเก็บกุญแจไว้ที่โจทก์ ในระหว่างจอดพนักงานของจำเลยเป็นผู้ดูแลรถโจทก์ หากโจทก์จะนำรถออกจากสถานที่จอดรถต้องแสดงบัตรอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อพนักงานของจำเลยซึ่งเฝ้าประตูทางเข้าออกสถานที่จอดรถ หากไม่มีบัตรอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.5 มาแสดงพนักงานของจำเลยจะไม่อนุญาตให้โจทก์นำรถออกจากสถานที่จอดรถ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ส่งมอบรถจักรยานยนต์พิพาทให้จำเลยและจำเลยยอมรับรถจักรยานยนต์พิพาทจากโจทก์มาอยู่ในความอารักขาของจำเลยแล้ว โดยมีพนักงานของจำเลยเป็นผู้ดูแลรถ หากโจทก์จะนำรถออกจากสถานที่จอดรถ ต้องแสดงบัตรอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อพนักงานของจำเลย แม้เอกสารหมาย จ.5 จะระบุเพียงว่าเป็นบัตรอนุญาตให้จอดรถจักรยานยนต์ และไม่มีข้อความใดระบุว่าเป็นการรับฝากรถก็ตาม แต่การปฏิบัติระหว่างโจทก์และจำเลยเข้าลักษณะสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 แล้ว โจทก์นำรถเข้าจอดวันที่ 14 เมษายน 2541 และชำระค่าจอด 5 บาท ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2541 โจทก์กลับมาเอารถ ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์พิพาทของโจทก์หายไปดังนี้จำเลยในฐานะผู้รับฝากทรัพย์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share