คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่ง มีรถบรรทุกประกอบการถึง 30 คัน โดยไม่ใช่รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 เลย แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้และผลประโยชน์มาจากรถบรรทุกที่เข้าร่วมประกอบการขนส่ง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 4จดทะเบียนเข้าร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 และด้านข้างรถก็พ่นสีระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมผูกพันตนเข้าร่วมกิจการและรับผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 4เมื่อจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โดยประมาท ถือได้ว่าจำเลยที่ 5เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077(2),1087
จำเลยที่ 6 เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกที่ให้จำเลยที่ 4 เช่าซื้อไปจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองใช้รถคันดังกล่าวจึงมีอำนาจนำรถไปจดทะเบียนประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1ได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 6 และแม้ว่าจำเลยที่ 2จะเป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 6 และร่วมกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาเพื่อประกอบการขนส่งก็ตาม ก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและเป็นกิจการของจำเลยที่ 1โดยลำพัง ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 6 ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6ร่วมกันทำธุรกิจประกอบการขนส่งและเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการและรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน 80-3572 สมุทรปราการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2532 นายสมนึก ไชยวงศ์ ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อลากรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สดังกล่าวไปตามถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 328 ถึงที่ 330 ในท้องที่หมู่ที่ 1ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 แล่นสวนทางมาด้วยความประมาทแซงรถคันอื่นล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์ เป็นเหตุให้ชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งลากรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยรวม 3,502,715.73 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี จากต้นเงิน 3,258,340.22 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการและรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน 80-3572 สมุทรปราการจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองหรือประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ และไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 เหตุละเมิดเกิดจากนายสมนึก ไชยวงศ์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูง แซงรถจักรยานยนต์ล้ำเข้ามาชนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 5 ขับในช่องเดินรถของจำเลยที่ 5 คำฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจากรายการความเสียหายตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นภาษาต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่เข้าใจว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร จำนวนเท่าใด กรรมการของโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและตราประทับในใบแต่งทนายความไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่า กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242สมุทรปราการ และรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน80-3572 สมุทรปราการ จำเลยที่ 4 มิได้ประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 6 เหตุละเมิดเกิดจากนายสมนึก ไชยวงศ์ ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการ ด้วยความประมาทแซงรถจักรยานยนต์ล้ำเข้ามาชนรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 5 ขับในช่องเดินรถของจำเลยที่ 5 รถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน 80-3572 สมุทรปราการ ได้รับความเสียหายไม่เกิน200,000 บาท และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30กันยายน 2532 เพราะโจทก์มิได้จ่ายเงินค่าซ่อมไปตั้งแต่วันดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ ไปจากจำเลยที่ 6และชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 6 ไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 จำเลยที่ 5 มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 6 คำฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมเนื่องจากรายการค่าซ่อมรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นภาษาอังกฤษ จำเลยที่ 6 ไม่อาจเข้าใจได้ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทไทยศรีนครประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมและจำเลยที่ 4 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวอรุณวรรณ อุ่นทรัพย์เจริญ ทายาทเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการ และรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน 80-3572 สมุทรปราการ จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ จำนวนเงินเอาประกัน 200,000 บาท จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4ผู้เอาประกันภัยและเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของนายสมนึกไชยวงศ์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยร่วมใช้เงิน 3,258,340.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยร่วมรับผิดในต้นเงินไม่เกิน 200,000 บาท แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 ตุลาคม 2533) ต้องไม่เกิน244,375.50 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5ร่วมกันใช้เงิน 3,258,340.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 1 ตุลาคม 2533) ต้องไม่เกิน244,375.50 บาท โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดใช้เงินจำนวน200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่30 กันยายน 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยคู่ความทั้งสองฝ่าย มิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้เช่าซื้อ และจดทะเบียนประกอบการขนส่งประเภทไม่ประจำทางร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 5 ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทชนรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-6242 สมุทรปราการ ซึ่งลากรถพ่วงบรรทุกถังแก๊สหมายเลขทะเบียน 80-3572 สมุทรปราการ ของโจทก์ เป็นเหตุให้รถพ่วงคันดังกล่าวและถังแก๊สเสียหายเป็นเงิน 3,258,340.22บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายธานินทร์ ยลวงศ์นักวิชาการขนส่งประจำสำนักงานขนส่งกระบี่เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งประเภทไม่ประจำทาง และจำเลยที่ 4 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้ประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 ตามสำเนาหนังสือแสดงการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 รถยนต์บรรทุกที่จดทะเบียนประเภทไม่ประจำทางไม่จำต้องเป็นรถยนต์บรรทุกของผู้ประกอบการขนส่ง แต่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบการขนส่งให้เข้าร่วมประกอบการขนส่ง ส่วนการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกประเภทส่วนบุคคลผู้ขอจดทะเบียนจะต้องเป็นเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อ รถยนต์บรรทุกที่จดทะเบียนประเภทไม่ประจำทางจะเปลี่ยนแปลงเป็นประเภทส่วนบุคคล ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องขอถอนจากประเภทไม่ประจำทางก่อน แล้วผู้เป็นเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจึงจะขอจดทะเบียนเป็นประเภทส่วนบุคคลได้ ส่วนฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ 6 ให้สามารถนำไปจดทะเบียนและประกอบการขนส่งประเภทไม่ประจำทางได้ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับค่าธรรมเนียมจากการที่จำเลยที่ 4 ขอเข้าร่วมประกอบการขนส่งเพียง 1,000 บาทเท่านั้น แต่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หากไม่ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ก็สามารถจดทะเบียนประเภทอื่นได้และจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ จากจำเลยที่ 6 เมื่อวันที่ 20ธันวาคม 2527 ก่อนการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจดทะเบียนประเภทส่วนบุคคล และเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าลูกค้าที่เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกไปจากจำเลยที่ 6 บางรายก็นำไปรับจ้างขนส่งเอง โดยไม่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปัจจุบันจำเลยที่ 1มีรถยนต์บรรทุกประกอบการอยู่ประมาณ 30 คัน แต่มิใช่รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แม้แต่คันเดียว นอกจากนี้จำเลยที่ 5ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ที่ด้านข้างรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 5 ขับ พ่นสีว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัดกระบี่เดินรถ” เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งมาหลายปีจนกระทั่งมีรถยนต์บรรทุกประกอบการถึง 30 คัน โดยมิใช่รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 เลยย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้และผลประโยชน์มาจากรถยนต์บรรทุกที่เข้าร่วมประกอบการขนส่ง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1ยินยอมให้จำเลยที่ 4 จดทะเบียนเข้าร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 และด้านข้างรถก็พ่นสีระบุชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ด้วยจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมผูกพันตนเข้าร่วมกิจการและรับผลประโยชน์ร่วมกันกับจำเลยที่ 4 ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กล่าวอ้างว่าได้รับประโยชน์เป็นค่าธรรมเนียมเพียง 1,000 บาท นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือ และข้ออ้างที่ว่าจดทะเบียนตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น เพื่อให้บริการหรืออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ 6 ให้สามารถนำไปจดทะเบียนและประกอบการขนส่งประเภทไม่ประจำทางได้ ก็ขัดต่อเหตุผล เพราะถึงแม้ลูกค้าไม่อาจจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกประเภทไม่ประจำทางก็สามารถจดทะเบียนประเภทส่วนบุคคลได้อยู่แล้ว และลูกค้าบางคนก็นำรถยนต์บรรทุกไปรับจ้างขนส่งเองโดยไม่ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 4 นำรถยนต์บรรทุกมาร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โดยประมาท กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) มาตรา 1087จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 6ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายธานินทร์ ยลวงศ์ นักวิชาการขนส่งพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 6ไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพราะตามระเบียบห้ามผู้ค้ารถยนต์เป็นผู้ประกอบการขนส่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 6เป็นผู้ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1 คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0030 กระบี่ โดยให้จำเลยที่ 4 เช่าซื้อ จำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์ดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 4 มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 6 แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้จัดการสาขาของจำเลยที่ 6 และร่วมกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนตั้งจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้นเพื่อประกอบการขนส่งดังวินิจฉัยมาข้างต้นก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 โดยลำพังเพราะไม่ปรากฏว่ากรรมการของจำเลยที่ 6 ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนหรือเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 6 ร่วมประกอบการขนส่งกับจำเลยที่ 1และที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 6 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share