แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ย่อมเป็นผู้สืบสันดานของบิดาเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 และมีสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความหรือถูกหมายเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่บิดาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 โดยไม่ต้องคำนึงว่าบิดามีทรัพย์มรดกตกทอดได้แก่บุตรนั้นหรือไม่เพราะตามมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่าทายาทที่จะเข้ามาเป็นคู่ความหรือถูกหมายเรียกเข้าเป็นคู่ความแทน จะต้องเป็นทายาทที่เข้ามารับเอาทรัพย์มรดก
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 44 ผู้คัดค้านจะมีโอกาสคัดค้านไม่ยอมเข้ามาเป็นคู่ความ ก็ต่อเมื่อผู้คัดค้านมิได้เป็นทายาทของคู่ความ การที่ผู้คัดค้านมิได้รับทรัพย์มรดกของคู่ความยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอจะยกขึ้นปฏิเสธได้เพราะตามกฎหมายผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว หรือรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินค่าข้าวเปลือกตามสัญญายอมความศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน พิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระเงินตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษาใหม่ จำเลยที่ 1ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งหมด ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ระหว่างศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม ขอให้ศาลหมายเรียกนางจรูญ ไกรเดช ภริยาเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 2 นางจรูญคัดค้านว่า ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยอมเป็นผู้รับมรดกความระหว่างนัดไต่สวนพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายย้วนดง นางสาวกิมไซและเด็กชายหน่ามบุตรจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นผู้รับมรดกความร่วมกับนางจรูญ บุคคลดังกล่าวให้การคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 กับนางจรูญไม่ได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่เคยรับรองผู้คัดค้านเป็นบุตร ไม่ขอเข้ารับมรดกความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนฟังว่า นางจรูญไม่ใช่ภริยาจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ทายาท ส่วนนายย้วนดง นางสาวกิมไซ และเด็กชายหน่วมเป็นบุตรนอกกฎหมาย จำเลยที่ 2 รับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นทายาทของนายเซ่เหลี่ยมจำเลยที่ 2 แต่ผู้คัดค้านทั้งหมดมิได้รับมรดกหรือปกครองทรัพย์มรดกจำเลยที่ 2 จึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ยอมรับมรดกความแทนที่จำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้นายย้วนดง นางสาวกิไซ และเด็กชายหน่วมโดยนางจรูญผู้แทนโดยชอบธรรม เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้ตาย
บุคคลทั้ง 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างรับฟังมาว่า นายย้วนดงนางสาวกิมไซ และเด็กชายหน่วมผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับรองแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 2 เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 ผู้คัดค้านจึงเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกจำเลยที่ 2 เมื่อเป็นทายาทจึงมีสิทธิขอเข้ามาเป็นคู่ความหรือถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ผู้มรณะมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ผู้คัดค้านอย่างไรหรือไม่ เพราะตามมาตรา 42 ไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้ว่าทายาทที่จะเข้ามาเป็นคู่ความหรือถูกศาลหมายเรียกเข้ามาเป็นคู่ความแทนจะต้องเป็นทายาทที่เข้ามารับเอาทรัพย์มรดก เพียงแต่ได้ความว่าเป็นทายาทของผู้มรณะ ก็มีสิทธิจะขอเข้ามาเป็นคู่ความ หรือถูกศาลหมายเรียกเข้ามาเป็นคู่ความดำเนินคดีแทนที่ผู้มรณะได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 44 ผู้คัดค้านจะมีโอกาสคัดค้านไม่ยอมเข้ามาเป็นคู่ความก็ต่อเมื่อผู้คัดค้านมิได้เป็นทายาทของจำเลยที่ 2 ผู้มรณะเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านมิได้รับมรดกของจำเลยที่ 2 ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะยกขึ้นปฏิเสธได้ เพราะตามกฎหมายผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวหรือรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน
พิพากษายืน