แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติของกฎหมายก็ดี ระเบียบของจำเลยก็ดีที่ให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิได้กำหนดให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยเป็นการทั่วไป พนักงานของจำเลยจึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายบำนาญแตกต่างกับค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถึงหากคำนวณแล้วจะมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย แต่ก็มีความประสงค์ในการจ่ายและวิธีการคำนวณแตกต่างกัน จึงเข้าลักษณะเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย
จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเป็นการเกินคำขอของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ระบุมาในคำฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเพียง 2 ปี 5 เดือนไม่ถึงวันฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จจึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานให้แก่จำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน
จำเลยให้การว่า ระเบียบการของจำเลยกำหนดไว้ว่า เมื่ออายุ 60 ปี ต้องถือว่าเป็นบุคคลสูงอายุ จำเลยจะจ้างโจทก์ต่อไปมิได้ กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่ากรณีลูกจ้างเกษียณอายุมิใช่เป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้รับเงินบำนาญตามระเบียบการของจำเลยซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์ที่มีความหมายเช่นเดียวกับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2), 11(3) (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2520 มาตรา 3 และระเบียบการของจำเลยว่าด้วยการออกจากงานกรณีสูงอายุของพนักงานธนาคารออมสิน ที่ให้พนักงานพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้กำหนดให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของรัฐวิสาหกิจและของจำเลยเป็นการทั่วไป โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายบำนาญของจำเลยแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ถึงหากคำนวณแล้วจะมีมากกว่าค่าชดเชยแต่ก็มีความประสงค์ในการจ่ายและวิธีการคำนวณแตกต่างกับค่าชดเชยจึงเข้าลักษณะเป็นเงินประเภทอื่นต่างหากจากค่าชดเชย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ย เป็นการเกินคำขอของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ระบุมาในคำฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเพียง2 ปี 5 เดือน ไม่ถึงวันฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จจึงไม่ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเป็นเวลา2 ปี 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง