คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2928/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสภาพและตำแหน่งของที่ดินโจทก์ โจทก์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้สะดวกที่สุดก็โดยผ่านลำเหมืองพิพาทซึ่งเป็นลำเหมืองสาธารณะ การที่จำเลยล้อมรั้วลำเหมืองพิพาทย่อมทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนและเสียหายเป็นพิเศษ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่สวนและที่นาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 503 ตำบลจองคำอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 75ตารางวา แต่เดิมในปีที่ 2508 ที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ระบุว่าจดถนนขัวเผือกหลังจากโจทก์ได้เป็นเจ้าของที่ดินแล้วในปี 2529โจทก์ให้เจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดสอบเขต ปรากฏว่าที่ดินโจทก์ด้านติดถนนขัวเผือกมีลำเหมืองสาธารณะคั่นอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินจึงแก้ไขรูปแผนที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เสียใหม่ว่าจดลำเหมืองสาธารณะประโยชน์ เจ้าของที่ดินเดิมและโจทก์ใช้ถนนที่ติดลำเหมืองสาธารณะประโยชน์เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมาเพราะที่ดินโจทก์ด้านอื่น ๆ ไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2530 จำเลยได้ใช้ จ้าง วาน ผู้มีชื่อไปล้อมรั้วลวดหนามที่ดินโจทก์ด้านติดกับถนนขัวเผือกตลอดแนวโดยรวบเอาที่ดินที่เป็นลำเหมืองสาธารณะประโยชน์หรือร่องถนนไว้เป็นของตน ทำให้โจทก์ไม่อาจเดินหรือใช้ยานพาหนะรถยนต์จากถนนเข้าออกสู่ที่ดินของโจทก์ได้ตามปกติ ขอให้บังคับจำเลยรื้อรั้วลวดหนามแนวเส้นสีน้ำเงินและสีแดงตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องออกไปให้หมดสิ้น และทำให้ที่ดินมีสภาพเดิมภายใน 7 วัน นับแต่พิพากษาถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อรั้วลวดหนามแทนจำเลยโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยล้อมรั้วในที่ดินจำเลยซึ่งซื้อจากผู้มีชื่อไม่ใช่ที่ดินลำเหมืองสาธารณประโยชน์ ไม่เคยมีผู้ใดยกให้เป็นสาธารณประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ใช้ที่ดินดังกล่าวร่วมกันโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะโจทก์ใช้ทางผ่านที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 179 เข้าสู่ที่ดินโจทก์ ไม่ได้ใช้ทางที่จำเลยล้อมรั้วเนื่องจากผิวถนนขัวเผือกสูงกว่าระดับพื้นดินที่จำเลยล้อมรั้วประมาณ 1 เมตร รถยนต์ผ่านเข้าออกไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อรั้วลวดหนามตามแนวเส้นสีน้ำเงินและแนวเส้นสีแดงตามแผนที่ท้ายฟ้องออกให้หมดสิ้น และทำให้ที่ดินมีสภาพเหมือนเดิมภายใน 15 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษาถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อลวดหนามดังกล่าวแทน โดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้โจทก์รื้อรั้วแทนจำเลยโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 503 ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเป็นผู้ใช้ให้นายดำ พรหมรังษี ล้อมรั้วลำเหมืองพิพาท ประเด็นแรกที่จะวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าลำเหมืองพิพาทเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์หรือไม่ จำเลยนำสืบรับว่า บริเวณที่จำเลยเข้าล้อมรั้วไว้เป็นลำเหมืองแต่มิใช่ลำเหมืองแต่มิใช่ลำเหมืองสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด จำเลยซื้อมาจากนางพิณทอง ศรีคำ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 ตามเอกสารหมาย ล.9 ส่วนโจทก์นำสืบว่าเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์จากพยานโจทก์ที่นำสืบมามีนายประวิทย์ วีระศิริ เจ้าหน้าที่บริหารงานและออกแบบก่อสร้าง 5 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอนให้มาระวังแนวเขตของถนนสาธารณะในการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.1เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2529 เบิกความว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทิศตะวันตกตอนใต้จดถนนขัวเผือกในการรังวัดปรากกว่าระหว่างที่ดินโจทก์กับถนนขัวเผือกมีลำเหมืองคั่นอยู่ นายประวิทย์เห็นว่าเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์เป็นที่ลุ่มลึก จึงขอให้โจทก์อุทิศเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์ โจทก์ตกลงตามที่นายประวิทย์ขอและนายประมวล ศรีแสง นายประพิณ สุวรรณลพเจ้าพนักงานที่ดินที่มาทำการรังวัดสอบเขตที่ดินเห็นชอบด้วยจึงได้มีการแก้แผนที่ของที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 ในที่สุดนายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้อนุมัติให้แก้ไขได้ จากคำเบิกความของนายประวิทย์พยานโจทก์ ซึ่งไม่รู้จักกับโจทก์จำเลยมาก่อนน่าจะเป็นพยานคนกลางเพราะมิได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ทั้งเป็นตัวแทนของนายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน มีน้ำหนักฟังได้ว่าก่อนทำการรังวัดสอบเขตลำเหมืองพิพาทและที่ดินข้างเคียงลำเหมืองพิพาทยังเป็นทางน้ำตามธรรมดาที่มีน้ำไหลผ่านลงสู่แม่น้ำแม่ฮ่องสอน ยังมิได้เป็นลำเหมืองที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันแต่อย่างใด นายประมวลนายประพิณ เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการรังวัดก็เบิกความคล้าย ๆกับนายประวิทย์โดยเบิกความว่า เมื่อโจทก์เห็นว่าเป็นลำเหมืองสาธารณะ โจทก์จึงอุทิศให้เป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์ เห็นว่าหากขณะทำการรังวัดลำเหมืองพิพาทเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องทำการอุทิศให้เป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์อีกคำเบิกความของนายประมวล นายประพิณตัวโจทก์และพยานอื่นที่โจทก์นำมาสืบว่าลำเหมืองพิพาทเดิมเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์นั้นไม่น่ารับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของนายประวิทย์ว่า ลำเหมืองพิพาทมิได้เป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์มาแต่เดิม แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ด้านทิศตะวันตกตอนใต้เดิมระบุไว้ว่าจดถนนขัวเผือก ดังนั้น ที่ดินนับตั้งแต่เขตของถนนขัวเผือกเข้ามาทางที่ดินของโจทก์ที่มีลำเหมืองพิพาทรวมอยู่ด้วยจึงเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 ฉะนั้น ลำเหมืองพิพาทจึงเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้อุทิศให้ลำเหมืองพิพาทเป็นลำเหมืองสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแม่ฮ่องสอนตามที่มีมาแต่เดิม ลำเหมืองพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2529ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อุทิศในวันที่ทำการรังวัด
ประเด็นข้อที่สอง โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์กล่าวฟ้องว่าจำเลยได้ล้อมรั้วลำเหมืองพิพาทตลอดแนวทำให้โจทก์ไม่สามารถเดินหรือใช้พาหนะเข้าออกสู่ที่ดินโจทก์ได้ ในปัญหานี้นายสืบ สุวรรณโสภณพยานจำเลยเบิกความว่า โจทก์ใช้ทางเดินเข้าออกที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินจำเลยกับที่ดินของนายสืบ จำเลยเองก็นำสืบว่าลำเหมืองพิพาทใช้เดินผ่านได้ เพราะแม้จะเป็นที่ลุ่มลึก เมื่อนำรูปแผนที่ระวางตามเอกสารหมาย ล.1 มาพิจารณาประกอบด้วย เห็นว่าสภาพและตำแหน่งของที่ดินโจทก์ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่สะดวกที่สุดก็คือทางทิศตะวันตกตอนใต้ที่ผ่านลำเหมืองพิพาท การที่จำเลยล้อมรั้วลำเหมืองพิพาทย่อมทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนและเสียหายเป็นพิเศษ เพราะโจทก์ไม่สามารถใช้เส้นทางสู่ถนนขัวเผือกได้ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share