คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7932/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) หมายถึงกรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยคำว่า “เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต”นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวมศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ความผิดกระทงแรกของจำเลยที่ 1 ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิตแต่เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 หนึ่งในสามแล้ว คงเหลือจำคุก 33 ปี4 เดือน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษในความผิดอีกฐานหนึ่งมารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะรวมโทษทุกกระทำความผิดแล้วก็ไม่เกิน 50 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62,106 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 55,72, 78 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสองพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 66 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72, 79 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 วางโทษฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสองอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีคีตามีนและไดอาซีแพมไว้ในครอบครองจำคุกกระทงละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 1วางโทษฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองจำคุก 5 ปี และฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 5 ปี และวางโทษจำเลยที่ 2ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดจำคุก 6 เดือนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ประกอบมาตรา 53)หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดแต่ละฐานจำนวน 33 ปี 4 เดือน, 8 เดือน, 8 เดือน, 3 ปี 4 เดือน และ 3 ปี4 เดือน ตามลำดับ ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกแต่ละฐานจำนวน 33 ปี 4 เดือน, 8 เดือน, 8 เดือน และ 4 เดือน ตามลำดับ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 39 ปี 28 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 33 ปี 24 เดือนของกลางริบคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,66 วรรคสอง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่งและวรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 78 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน)ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และลดโทษให้จำเลยที่ 2เฉพาะความผิดฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานมีกำหนด 3 เดือน ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่จำคุกจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2(คีตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตคนละ 1 ปี และเมื่อเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองทุกกรรมเป็นกระทงความผิดแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 39 ปี 20 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด33 ปี 15 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้จำคุกตลอดชีวิตแล้วจะนำโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)หมายความว่า กรณีที่จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า “เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้สำหรับความผิดกระทงแรกของจำเลยที่ 1 ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1ไว้ตลอดชีวิต แต่เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 หนึ่งในสามแล้วคงเหลือจำคุก33 ปี 4 เดือน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วก็ไม่เกิน 50 ปี ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share